+ ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลง ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.พัทลุง (18 มม.) จ.นราธิวาส (13 มม.) และ จ.สระบุรี (11 มม.)
+ น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 40,901 ล้าน ลบ.ม. (71%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 33,181 ล้าน ลบ.ม. (69%)
+ คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี
+ ประกาศ ฉบับที่ 1/2566 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค. 66 ดังนี้
1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก
3. เฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส
+ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ จากการติดตาม การคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วงวันที่ 6 -11 มกราคม 2566
กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อม เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบระบบและอาคารชลประทานต่างๆ ให้สามารถรองรับสถานการณ์น้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมไปถึงบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุมอย่างเคร่งครัด ส่วนพื้นที่ที่เกิด น้ำท่วมเป็นประจำ ให้ติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์และช่วยเหลือประชาชนได้ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะวิกฤติน้ำท่วมหรือน้ำเอ่อล้นตลิ่งในแม่น้ำสายหลัก กรมชลประทานในพื้นที่บูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป