สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 18 ธ.ค. 65 เวลา 7.00 น.

ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวและอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง บริเวณ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส (232 มม.) จ.พัทลุง (150 มม.) และ จ.สงขลา (145 มม.)

น้ำใช้การแหล่งน้ำทุกขนาด 42,739 ล้าน ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 34,827 ล้าน ลบ.ม. (73%)

คุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก อยู่ในเกณฑ์ปกติทุกสถานี

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

กอนช.ประกาศฉบับที่ 57/2565 พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ดังนี้

1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของ แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูง กว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลาง และขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กอนช. ติดตามการปรับปรุงประสิทธิภาพระบายน้ำรวบรวมน้ำเสียในคลองโอ่งอ่าง

กรุงเทพมหานคร ปรับปรุงประสิทธิภาพระบายน้ำรวบรวมน้ำเสียในคลองโอ่งอ่าง ช่วงตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต – สถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง มีการถ่ายเทไหลเวียนน้ำอยู่เสมอ จึงไม่มีน้ำเสียไหลลงสู่คลองโอ่งอ่าง มีการก่อสร้างเขื่อนริมคลองและด้านหลังเขื่อน โดยมีระบบรวบรวมน้ำเสีย เพื่อรวบรวมน้ำเสียจากบ้านเรือนริมคลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเขื่อนและปรับปรุงภูมิทัศน์แนวคลองโอ่งอ่าง ระยะที่ 2 จากสะพานภานุพันธุ์ – สะพานดำรงสถิต เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการระบายน้ำและรวบรวมน้ำเสีย คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.66

กรุงเทพฯ มีแผนการดูแลรักษาสภาพน้ำในคลองโอ่งอ่างและคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ในช่วงฤดูแล้ง หรือในช่วงหมดฤดูฝน โดยถ่ายเทไหลเวียนน้ำเป็นประจำทุกวันในช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยากำลังขึ้นเต็มที่ เปิดประตูระบายน้ำ หรือสูบน้ำ นำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองคูเมืองเดิม แล้วเปิดประตูระบายน้ำที่คลองหลอดวัดเทพธิดาและประตูระบายน้ำคลองหลอด วัดราชบพิธ ให้ปริมาณน้ำใหม่ที่มีคุณภาพดีไหลเข้าสู่คลองโอ่งอ่าง เพื่อเจือจางไล่น้ำเก่าที่ค้างอยู่ในคลองให้มีคุณภาพดีขึ้น ส่วนการไหลเวียนน้ำในคลองรอบกรุงจะนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองรอบกรุงที่ประตูระบายน้ำคลองบางลำพูและสถานีสูบน้ำคลองโอ่งอ่าง ช่วยถ่ายเทและไหลเวียนน้ำเก่าออกไปสู่คลองมหานาค จากนั้นจะสูบน้ำออกที่สถานีสูบน้ำกรุงเกษม ทั้งนี้ แผนการถ่ายเทไหลเวียนน้ำดังกล่าว หากมีการแจ้งเตือนจากศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมว่าอาจมีฝนตกในพื้นที่จะชะลอการถ่ายเทน้ำไว้ชั่วคราว และควบคุมระดับน้ำในคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ไว้ที่ไม่เกินค่าระดับน้ำเตือนภัย และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารและประชาชน ไม่ให้ปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลลงคลองโอ่งอ่าง