มกอช. ขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า ยกระดับสถานประกอบการ สู่มาตรฐาน GMP        

สินค้าเกษตร เป็นสินค้าสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ส่งออกเป็นอันดับ 8 ของโลก รองจาก อเมริกา จีน แคนนาดา คิดเป็นเงิน 5,748 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปี 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13 ได้แก่ สินค้าผลไม้สดแช่แข็ง แช่เย็น ผักสดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และเครื่องเทศและสมุนไพร ทั้งนี้ เกิดจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการตกลงการค้าเสรีกับประเทศคู่ค้า 18 ประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการสร้างโอกาสและเพิ่มศักยภาพการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย แม้ในปีที่ผ่านมาสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งก็ตาม

นอกจากนี้ ในปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสินค้าที่มีมาตรฐาน และพัฒนาคุณภาพการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ หรือเกษตรอินทรีย์ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนจึงร่วมกันพัฒนาสถานประกอบการให้ได้รับมาตรฐาน GMP เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่า ได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาตลาดการค้าสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งลดกำแพงทางการค้า เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยกองส่งเสริมมาตรฐาน (กสม.) เห็นถึงความสำคัญในการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐานตลอดห่วงโซ่การผลิต และเป็นกลไกการขับเคลื่อนการมาตรฐาน ปี 2566 กสม. จึงได้จัดสัมมนา “การขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อพัฒนาสู่เกษตรมูลค่าสูง ภายใต้โครงการยกระดับและส่งเสริมการนำมาตรฐาน GMP ไปใช้ในสถานประกอบการ”

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้แก่ เกษตรกรในพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีประสงค์ในการจัดเตรียมสถานประกอบการให้มีความพร้อมในการขอการรับรอง ตามมาตรฐาน เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2563) หรือการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560) หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร (มกษ. 3502-2561) หรือมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ในสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาและยกระดับสถานประกอบการให้สอดคล้องตามมาตรฐาน GMP และสามารถยื่นขอรับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ตลอดจนขยายผลสู่การพัฒนาศักยภาพการผลิตที่เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรของตน รวมทั้งขยายผลเป็นแหล่งเรียนรู้ หรือเป็นวิทยากรให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ส่งผลให้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและระดับสากล

“การส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ โดยปฏิบัติตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อาหาร เป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรอินทรีย์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ปี 2560-2564 มกอช. จึงดำเนินการพัฒนา ยกระดับผู้ผลิตสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการให้มีความสอดคล้องและเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าเกษตร” เลขาธิการ มกอช. กล่าว