กรมประมง..เจรจาเวทีประชุม IOTC ปรับสถานะแผนปฏิบัติการแห่งชาติ  เพื่ออนุรักษ์และจัดการ ฉลาม นกทะเล และเต่าทะเล…สำเร็จ!!

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) ซึ่งมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดและมาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่าในมหาสมุทรอินเดีย รวมถึงสัตว์น้ำพลอยจับได้ อาทิ ฉลาม นกทะเล และเต่าทะเล ร่วมกับสมาชิกอีก29 ประเทศ  ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (The Scientific Committee; SC) ครั้งที่ 24 ของ IOTC ทางระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 7 – 11 ธันวาคม 2564

ที่ผ่านมา ได้ประเมินให้ไทยมีสถานะเกี่ยวกับการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการ (NPOA) ฉลาม และนกทะเล รวมถึงการดำเนินการตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเพื่อลดอัตราการตายของเต่าทะเลจากการทำการประมง ดังนี้  ฉลาม สถานะสีเขียว หมายถึง ดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จ  ส่วนนกทะเล และเต่าทะเล สถานะสีแดง หมายถึง ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ซึ่งที่ผ่านมา กรมประมงไม่ได้นิ่งนอนใจและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดสำหรับ NPOA ของนกทะเล และเต่าทะเล เพื่อปรับสถานะทั้ง 2 ชนิด ให้เป็นสีเขียว

ล่าสุด…กรมประมง โดยนางเพราลัย นุชหมอน รักษาการในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการประมง กรมประมง ได้นำคณะเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ (The Scientific Committee; SC) ครั้งที่ 25 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 9 ธันวาคม 2565 ณ สาธารณรัฐเซเชลส์ จึงใช้โอกาสนี้ในการเจรจาหารือกับ Ms. Lauren Nelson ตำแหน่ง Science officer bycatch coordinator ของ IOTC เพื่อขอปรับแก้ไขสถานะการจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการ (NPOA) ฉลาม และนกทะเล รวมถึงการดำเนินการตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติเพื่อลดอัตราการตายของเต่าทะเลจากการทำการประมงของประเทศไทย  เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ NPOA นกทะเล รวมทั้งชี้แจงว่าประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และจัดการสัตว์น้ำกลุ่มเหล่านี้เป็นอย่างดี กิจกรรมการทำประมงของประเทศไทยจะไม่ส่งผลกระทบต่อนกทะเล และเต่าทะเล  ซึ่งผลการหารือในครั้งนี้ ทำให้สถานะ NPOA ของฉลาม และนกทะเล รวมถึงการดำเนินการตามแนวทางขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เพื่อลดอัตราการตายของเต่าทะเลจากการทำการประมงของประเทศไทยได้รับการปรับปรุงข้อมูลใหม่ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ฉลาม สีเขียว หมายถึง ดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จ
  • นกทะเล สีส้ม หมายถึง ดำเนินการแล้วเสร็จเป็นบางส่วน หรืออยู่ระหว่างการดำเนินการ
  • เต่าทะเล สีเขียว หมายถึง ดำเนินการจัดทำแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ กรมประมงยังคงมุ่งมั่นที่จะจัดทำ NPOA นกทะเล เพื่อปรับสถานะให้เป็นสีเขียว โดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2566 นี้

อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการปรับสถานะ ฉลาม และนกทะเล รวมถึงเต่าทะเล ในประชุมของคณะกรรมการ IOTC ครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งสัญญาณที่ดีต่อประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของ IOTC เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อนานาชาติในการมีจรรยาบรรณต่อการทำประมงอย่างรับผิดชอบ มีการบริหารจัดการทรัพยากรประมงที่ตระหนักถึงการอนุรักษ์สัตว์น้ำพลอยจับได้
เพื่อการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนภาคการประมงไทยให้มีศักยภาพการแข่งขันได้ในระดับโลกต่อไป