รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการตรวจสอบการประกอบกิจการน้ำบาดาล ในอำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ตามโครงการเสริมสร้างศักยภาพด้านการกำกับ ดูแลการประกอบกิจการน้ำบาดาล และดำเนินการเจาะบ่อน้ำบาดาล ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในพื้นที่บ้านท่าเยี่ยม หมู่ที่ 2 ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร

2. สภาพอากาศ
ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธันวาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง และจะเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง จากนั้นจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นกับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกและภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,591 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,654 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,782 ล้าน ลบ.ม. (94%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,165 ล้าน ลบ.ม. (78%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,285 ล้าน ลบ.ม. (74%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,948 ล้าน ลบ.ม. (9%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 522 ล้าน ลบ.ม. (6%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมหารือโครงการความร่วมมือด้านการดัดแปรสภาพอากาศระหว่างไทยกับมองโกเลีย โดยความร่วมมือดังกล่าวได้เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2557 โดยในระยะแรกดำเนินการสนับสนุนการจัดอบรมการปฏิบัติการฝนหลวงให้กับเจ้าหน้าที่มองโกเลีย เพื่อนำเทคโนโลยีฝนหลวงไปใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนของประเทศ ต่อมาได้ดำเนินงานแผนงานปฏิบัติการร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการดัดแปรสภาพอากาศ เสริมสร้างขีดความสามารถในการบรรเทาความแห้งแล้ง และลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนของทั้งสองประเทศ