โคราช Kick – Off รัฐเข้มตรวจจับ ปรับจริง – ห้ามใช้รถควันดำ “ลมหายใจในอนาคตกำหนดได้ด้วยมือเรา”

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ของทุกปี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสุขภาพอนามัยและการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนที่ทั่วทุกภูมิภาค จากการติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดนครราชสีมา ในเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ปี 2563-2565 พบว่า ในปี 2563 มีจำนวนวันที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐาน (51-90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) สูงถึง 40 วัน คิดเป็นร้อยละ 21.98 ของช่วงเวลาดังกล่าว ในขณะที่ปี 2564 และ 2565 มีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานเท่ากับ 32 และ 19 วัน ตามลำดับ ซึ่งมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการสันดาปของเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลโดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนเมือง

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) (สคพ.11) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดในการตรวจวัดควันดำของรถยนต์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง พร้อมส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการคุณภาพอากาศ ดังคำขวัญเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคม ปี 2565 ที่ว่า “ลมหายใจในอนาคตกำหนดได้ด้วยมือเรา”เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 – วันที่ 31 มีนาคม 2566 และจากการตรวจจับควันดำ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 บริเวณด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ นครราชสีมา ผลการตรวจวัดควันดำจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จำนวน 62 คัน พบว่าเป็นรถยนต์ตาม พ.ร.บ.ขนส่งทางบกฯ จำนวน 18 คัน พบค่าควันดำเกินมาตรฐาน 3 คัน พ่นสัญลักษณ์ห้ามใช้รถยนต์ จำนวน 3 คัน และรถยนต์ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จำนวน 44 คัน พบค่าควันดำเกินมาตรฐาน 9 คัน พนักงานเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข และติดสติ๊กเกอร์ห้ามใช้รถยนต์ชั่วคราว จำนวน 9 คัน

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองขนาดใหญ่ที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมไปสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากการที่รัฐบาลกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมาได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน แก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงร่วมเป็นพื้นที่นำร่องดำเนินการตรวจสอบตรวจจับรถยนต์ควันดำ ซึ่งก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน กำหนดให้หน่วยงานราชการนำรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลของทางราชการและรถยนต์เจ้าหน้าที่เข้าตรวจวัดควันดำ ซ่อมบำรุงรักษาให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ มี สคพ.11 ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลนครนครราชสีมา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา เป็นหน่วยงานหลักในการประสานความร่วมมือ การตรวจสอบตรวจจับควันดำ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จับจริง ปรับจริง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ต่อไป