ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดงานวันดินโลก ประจำปี 2565 และพิธีเปิดป้ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ณ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 

2 ธันวาคม 2565 : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยพลอากาศตรี นายแพทย์สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันดินโลก ประจำปี 2565 และพิธีเปิดป้ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หมู่ 9 ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับเกียรติจาก นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน เข้าร่วมพิธี

งานวันดินโลก (WORLD SOIL DAY) ประจำปี 2565 ที่จัดขึ้น ณ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมจัดงานขึ้นภายใต้แนวคิด อาหารก่อกำเนิดเกิดจากดิน (SOILS: WHERE FOOD BEGINS) เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงได้รับการถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดิน เพื่อมนุษยธรรมจากสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติเป็นพระองค์แรกของโลก พร้อมกันนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดพิธีเปิดป้ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาพื้นที่ โดยการรวมพลังเครือข่ายจิตอาสาประชาชน นักเรียนและเยาวชน รวมถึงการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องจักรในการพัฒนาพื้นที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 2 กรมการสัตว์ทหารบก และกองบัญชาการกองทัพไทย โดยได้รับการอำนวยความสะดวกด้านยานพาหนะรับส่งเยาวชนและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจิตอาหสาจากกองพันสุนัขทหาร กรมการสัตว์ทหารบก และคลังแสงที่ 5 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการฝึกอบรมทำนาอินทรีย์ปลอดสารพิษ โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา กรมการข้าว โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน กล่าวคือ มีการผลิตที่ดีขึ้น โภชนาการที่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นและมีชีวิตที่ดีขึ้น

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสิ่งแวดล้อม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีจำนวนเนื้อที่ 317 ไร่ 2 งาน 92 ตารางวา มีวิสัยทัศน์ “สืบสานศาสตร์พระราชา สร้างมูลค่าภูมิปัญญา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” แบ่งพื้นที่เป็น 6 ส่วน เพื่อดำเนินโครงการ ได้แก่ (1) พื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่ (2) สมาร์ทฟาร์มผลิตอาหารปลอดภัยและสมุนไพร (3) ศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม (4) อนุรักษ์พันธุกรรมพืช (5) ระบบวนเกษตร (6) Digital BCG Village โดยการประสานความร่วมมือ (Partnership Platform) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน จำนวน 90 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือวิจัยและพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาตามแนวพระราชดำริและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และให้บริการวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม และการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน