กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ติดอาวุธผู้ประกอบการ GI ไทย สร้างอัตลักษณ์สินค้าพื้นถิ่นพร้อมส่งออกตลาดโลก
กรมทรัพย์สินทางปัญญาผนึกกำลังองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization : WIPO) เสริมแกร่งสร้างอัตลักษณ์สินค้า GI ไทยในเวทีโลก ด้วยการสร้างแบรนด์และการออกแบบ พร้อมนำทีมผู้แทน WIPO และอินโดแปซิฟิก บุกถิ่น 3 สินค้า GI เมืองย่าโม ผ้าไหมปักธงชัย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และไวน์เขาใหญ่ สร้างโอกาสทางการค้าในเวทีโลก เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า “กรมฯ ร่วมกับองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) จัดกิจกรรมส่งเสริมการสร้างแบรนด์และออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ให้กับสินค้า GI อันนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างโอกาสทางการค้าให้กับสินค้า GI ไทยในเวทีโลก โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติร่วมถ่ายทอดความรู้ ณ โรงแรมพาโค่ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งปัจจุบันสินค้า GI ไทยที่จดทะเบียนในต่างประเทศ มีทั้งหมด 8 สินค้า ใน 31 ประเทศ คือ
(1) ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ในสหภาพยุโรป
(2) กาแฟดอยช้าง ในสหภาพยุโรป
(3) กาแฟดอยตุง ในสหภาพยุโรปและกัมพูชา
(4) ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในสหภาพยุโรป
(5) เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ในเวียดนาม
(6) ผ้าไหมยกดอกลําพูน ในอินเดียและอินโดนีเซีย
(7) มะขามหวานเพชรบูรณ์ ในเวียดนาม
(8) ลําไยอบแห้งเนื้อสีทองลําพูน ในเวียดนาม
นอกจากนี้ กรมฯ ได้นำคณะผู้แทนจาก WIPO และภูมิภาคอินโดแปซิฟิก 5 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน บังกลาเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และซามัว ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสินค้า GI มากที่สุดในประเทศไทย เพื่อเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและศึกษาแนวทางการรักษามาตรฐานสินค้า GI ที่มีคุณภาพ ของ 3 สินค้า ขึ้นชื่อของจังหวัด ได้แก่
ผ้าไหมปักธงชัย เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน และไวน์เขาใหญ่ ซึ่งเป็นสินค้า GI ที่มีศักยภาพพร้อมเติบโตสู่ตลาดโลก สร้างมูลค่าทางการตลาดและนำรายได้เข้าสู่ชุมชนท้องถิ่นรวมกว่า 162 ล้านบาท/ปี และในการประชุม APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมา ผ้าไหมปักธงชัย และไวน์เขาใหญ่ ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงอัตลักษณ์พื้นถิ่นด้วย
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมฯ ได้ทำงานเชิงรุกผลักดันให้ “ไวน์เขาใหญ่” ได้รับการจดทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป เพื่อสร้างการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค รวมทั้งสร้างโอกาสในการส่งออกและเปิดตลาดยุโรป เพื่อนำรายได้กลับสู่ชุมชนท้องถิ่นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน”