กสม. ชี้กรณีเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีภาระงานหนัก กระทบสิทธิในการพักผ่อนและการสร้างครอบครัว เป็นการละเมิดสิทธิฯ

เผยปี 2566 กสม. ไทยรับหน้าที่ประธาน SEANF ชวนประเทศสมาชิกร่วมผลักดันเรื่องการต่อต้าน การทรมานในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่น ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 42/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีมีภาระงานหนัก ไม่ได้รับค่าตอบแทน การทำงานล่วงเวลาที่เหมาะสม กระทบสิทธิในการพักผ่อนและการสร้างครอบครัว เป็นการละเมิดสิทธิฯ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 จากประชาชนผู้ไปติดต่อราชการกับสำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยอง กรมบังคับคดี โดยเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวมีภาระงานมากต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และพบว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนแม้จะต้องทำงานหนักแต่ยังไม่ได้บรรจุเข้ารับราชการ ประกอบกับการได้รับรายได้น้อยส่งผลกระทบต่อการสร้างครอบครัวจึงขอให้ตรวจสอบ

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลมีสิทธิที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ โดยเฉพาะการได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน มีความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัวในการดำรงชีวิต ตลอดจนมีสิทธิในการพักผ่อน มีเวลาว่าง และข้อจำกัดที่สมเหตุผล ในเรื่องเวลาทำงาน และมีวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าตอบแทน ดังที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ให้การรับรองไว้ ประกอบกับการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนนอกเหนือจากต้องมุ่งเพื่อผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐแล้ว จะต้องเป็นไปเพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย โดยเป็นหน้าที่ของส่วนราชการที่จะต้องเพิ่มพูนประสิทธิภาพและเสริมสร้างแรงจูงใจแก่ข้าราชการพลเรือนเพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติราชการ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 34 และ 72 และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีด้วย

แม้กรมบังคับคดีจะตระหนักถึงปัญหาภาระงานที่ไม่สอดคล้องกับจำนวนเจ้าหน้าที่และปัญหาค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยอง รวมถึงสำนักงานบังคับคดีประจำจังหวัด
ทั่วประเทศเป็นอย่างดี และได้พยายามดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอดภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณ กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยอยู่ระหว่างศึกษาการจัดทำร่างพระราชบัญญัติพนักงานบังคับคดี เพื่อปรับปรุงวิธีการได้มาและการดำรงตำแหน่งของเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้การทำงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมชั้นสูง เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการบังคับคดีที่มีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานสากล อีกทั้งยังรักษาไว้ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่มีประสบการณ์ทำงานสูง และสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานโดยได้กำหนดหลักการในการได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งจะได้ปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

แต่ทั้งนี้ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีที่ผ่านมาและปัจจุบัน ยังคงมีภาระงานหนักและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทน
ที่ได้รับ โดยเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติงานนอกเวลาราชการเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายแล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน แต่สามารถเบิกค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการได้เพียงไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมงต่อวัน อีกทั้งมีเพียงข้าราชการในตำแหน่งนิติกรเท่านั้นที่สามารถได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพิเศษตามระเบียบของข้าราชการพลเรือน แต่ก็ยังมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายประการ เช่น เงื่อนไขที่ต้องผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมการพัฒนานักกฎหมายภาครัฐ ทำให้บางส่วนยังไม่ได้รับเงินเพิ่มที่ควรได้ กรณีนี้จึงกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ที่เหมาะสมสำหรับตนและครอบครัวในการดำรงชีวิต ตลอดจนสิทธิในการพักผ่อน มีเวลาว่าง ซึ่งไม่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลตลอดจนหลักการจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดระยองและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดของกรมบังคับคดี

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือการแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดจนแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สรุปได้ดังนี้

1.1 มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ให้กรมบังคับคดีสำรวจข้อมูล ข้อจำกัด และดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีข้าราชการตำแหน่งนิติกรบางส่วนที่ยังไม่สามารถได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และประสานสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เพื่อขอคำแนะนำและดำเนินการจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอเรื่องพิจารณาเพิ่มเติมตำแหน่งอื่นนอกเหนือจากข้าราชการตำแหน่งนิติกรให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และรวมถึงกรณีขอเพิ่มเติมตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่มของพนักงานราชการตามกระบวนการที่สำนักงาน ก.พ. ให้คำแนะนำด้วย

นอกจากนี้ให้สำนักงาน ก.พ. ทบทวนข้อจำกัด และปรับปรุงการเข้าถึงการได้รับการอบรมหลักสูตรนักกฎหมายภาครัฐหรือหลักสูตรอื่นที่เทียบเท่าซึ่ง ก.พ. กำหนดหรือรับรองไว้เป็นส่วนหนึ่งในคุณสมบัติของข้าราชการพลเรือนตำแหน่งนิติกรที่ขอรับการคัดเลือกให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่กรมบังคับคดีในการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอพิจารณาเพิ่มเติมตำแหน่งให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ตลอดทั้งกรณีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. …. ด้วย

2.2 มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ให้กรมบังคับคดีเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีลักษณะงานไม่สอดคล้องกับค่าตอบแทนเพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจต่อผู้ปฏิบัติงาน อาทิ การร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. … เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกระบวนการ ขั้นตอน และกรอบระยะเวลาที่เหมาะสมตามกฎหมายกำหนด

รวมทั้งให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ พิจารณาเรื่องที่เสนอให้มีการปรับปรุง หรือเพิ่มเติมสวัสดิการ ค่าตอบแทน ตำแหน่ง อัตรากำลังของกรมบังคับคดีและหน่วยงานภาครัฐอื่นใด โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริงเรื่องความยาก ง่าย ความหนักเบาของภาระงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานนั้น ๆ ทั้งนี้ ให้มีความสอดคล้อง และเทียบเท่ากับงานในลักษณะเดียวกันกับหน่วยงานอื่นด้วย

2. กสม. ไทยรับมอบธงเป็นประธานกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2566 เตรียมผลักดันเรื่องการต่อต้านการทรมานในระดับภูมิภาค

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 – 29 พฤศจิกายน 2565 ตนพร้อมด้วยนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมประจำปีของกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum) หรือ SEANF ครั้งที่ 19 ณ เมืองซัมโบอังกา (เกาะมินดาเนา) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมี กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) ในฐานะประธาน SEANF ในปี 2565 ทำหน้าที่ประธานและเจ้าภาพ จัดการประชุม

การประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 19 เป็นการประชุมตามระเบียบวาระระหว่างคณะผู้แทนสมาชิก SEANF จำนวน 6 สถาบัน ได้แก่ กสม. อินโดนีเซีย (Komnas HAM) กสม. มาเลเซีย (SUHAKAM) กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) กสม. เมียนมา (MNHRC) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์-เลสเต (PDHJ) และกสม. ไทย (NHRCT) โดยในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “บทบาทของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการป้องกันการไร้สัญชาติและการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติและบุคคลที่เสี่ยงต่อการไร้สัญชาติ: มุมมองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เพื่อหารือถึงการร่วมกันผลักดันการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจากประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในรัฐซาบาห์ มาเลเซีย ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยคณะผู้เข้าร่วมการประชุมได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์คัดกรองผู้พลัดถิ่น กระทรวงสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นหน่วยงานคัดกรองผู้ถูกส่งกลับจากรัฐซาบาห์ มาเลเซีย ด้วย

“การประชุมครั้งนี้ กสม. ไทยได้นำเสนอความก้าวหน้าของประเทศอันเป็นผลสืบเนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565
เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดยในปี 2566 ที่จะถึงนี้ กสม. ไทย จะขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวร่วมกับสมาชิก SEANF โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันการทรมานของแต่ละสถาบัน เพื่อผลักดันให้ประเด็นการต่อต้านการทรมานและการบังคับให้สูญหายเกิดผลเป็นรูปธรรมในภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของการประชุม ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้แทน กสม. ไทย ได้รับมอบธงสัญลักษณ์ SEANF จากนาย Richard Palpal-Latoc ประธาน กสม. ฟิลิปปินส์ (CHRP) เพื่อรับมอบตำแหน่งประธาน SEANF ประจำปี 2566 อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะทำให้ กสม. ไทยมีหน้าที่ในการบริหารจัดการการประชุมหลักของ SEANF ในปีหน้า และทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาชิก SEANF และองค์กรเครือข่ายภายนอก อันถือเป็นโอกาสสำคัญที่ กสม. ไทย จะใช้เวทีนี้ ในการผลักดันหรือขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชน ในระดับภูมิภาคโดยผ่านกรอบความร่วมมือ SEANF เพื่อสนับสนุนการตอบสนองร่วมกันต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนการจัดให้มีเวทีในการสร้างการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลายทั้งในระดับภายในประเทศ ระดับภูมิภาค และในระดับสากล