กรมชลประทาน เผยอ่างเก็บน้ำลำสะพุงฯ คืบหน้ากว่าร้อยละ 58 สนองแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ

กรมชลประทาน เผยโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ  คืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 58 ร่วมพัฒนาพื้นที่ราบเชิงภูเขียวแก้ไขปัญหาทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำชี สนองแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 

นายประพิศ  จันทร์มา  อธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำชี มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 49,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน 1.30 ล้านไร่  ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีแหล่งน้ำเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ และเขื่อนลำปาว รวมไปถึงอ่างขนาดกลาง อีก 69 แห่ง

แต่เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของลำน้ำชี ที่มีสภาพคดเคี้ยว บางช่วงกว้าง บางช่วงแคบ และเป็นลำน้ำที่ยาวถึง 1,047 กิโลเมตร บริเวณตอนบนมีลักษณะเป็นต้นน้ำ ส่วนบริเวณตอนล่างเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีแม่น้ำหลายสายไหลลงมารวมกัน  ทำให้ในช่วงฤดูฝน ที่มีฝนตกหนักจึงไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนส่งผลให้เกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำชีอยู่บ่อยครั้ง  ส่วนในฤดูแล้งมักจะประสบภัยแล้ง ด้วยข้อจำกัดด้านสภาพภูมิประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ประกอบกับความต้องการการใช้น้ำของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่9 ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาวางโครงการและก่อสร้างอ่างเก็บน้ำหรือฝายทดน้ำบริเวณต้นน้ำลำน้ำชี และตามลำน้ำสาขาต่างๆ ของลำน้ำชีเพื่อจัดหาน้ำช่วยเหลือราษฎรหมู่บ้านต่างๆ ในพื้นที่ ให้มีน้ำทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี

กรมชลประทาน  จึงได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.หนองแวง  อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ  ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงภูเขียว ตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เพื่อช่วยเหลือราษฎร อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบรูณ์ จ.ชัยภูมิ ให้มีน้ำทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคตลอดปี ปัจจุบันดำเนินโครงการแล้วเสร็จกว่าร้อยละ 58 ของแผนฯ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี 2567 ตามแผนที่กำหนด

หากดำเนินการแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภคและผลิตประปา ให้กับประชาชนกว่า 5,145 ครัวเรือน  สร้างความมั่นคงทางด้านน้ำให้เกษตรกรได้มีน้ำสำรองไว้ใช้เพาะปลูกในช่วงฤดูฝนกว่า 40,000 ไร่ และในฤดูแล้งประมาณ 8,000 ไร่ ทั้งยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแห่งใหม่ ช่วยเสริมสร้างอาชีพประมงให้เกษตรกรมีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมีน้ำสำหรับรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำชีและลำน้ำสาขาเพิ่มอีกประมาณปีละ 73 ล้าน ลบ.ม.

นอกจากนี้ ยังจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ ให้ประชาชนได้พักผ่อนหย่อนใจได้อีกด้วย