พาณิชย์ระบุ ภาคบริการเดือน มี.ค. 61 โตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงดัชนีภาวการค้าภาคบริการของไทยในเดือนมีนาคม 2561[1] ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 108.5 สูงขึ้นร้อยละ 3.6  (YoY) ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับร้อยละ 4.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561[2] โดยสาขาบริการสำคัญที่ ขยายตัวดี ได้แก่ การขายปลีก การเงิน การขนส่ง และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร

ดัชนีภาวการค้าภาคบริการของไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เทียบกับร้อยละ 10.0 ในไตรมาสที่ 4 ปี 2561 โดยสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 11.4 ส่วนสาขาสำคัญอื่นๆ ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ทั้ง การขายปลีก (ร้อยละ 2.6) การขนส่ง (ร้อยละ 7.2) การเงิน (ร้อยละ 7.1) และอสังหาริมทรัพย์ (ร้อยละ 8.4) เป็นต้น

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคบริการขยายตัวในเดือนมีนาคม เกิดจากการขยายตัวสูงของการส่งออกบริการ (ดุลบริการรับภาคบริการ) ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 2.15 แสนล้านบาท ดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของ จำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน และความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ลดลง ได้แก่  การจ้างงาน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศภาคบริการ และจำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน

เมื่อพิจารณา ภาคบริการในรายสาขา จะพบว่าขยายตัว 8 สาขา โดยสาขาที่ขยายตัวเร่งขึ้น ประกอบด้วย 4 สาขา ได้แก่ กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย การศึกษา บริการสุขภาพ[3] และกิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ  ส่วนสาขาที่ยังคงขยายตัวแต่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า มีจำนวน 4 สาขา ได้แก่ การขายส่งและการขายปลีก การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ขณะที่สาขาที่หดตัว มี 5 สาขา ประกอบด้วย การก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์ กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน และศิลปะ (รายละเอียดตามเอกสารแนบ)

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเดือนมีนาคมภาคบริการที่สำคัญยังคงขยายตัวดี โดยเฉพาะ สาขาที่พักแรมและร้านอาหาร ซึ่งเป็นสาขาที่เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 13.4 เนื่องจากรายได้จากการส่งออกบริการขยายตัวสูง โดยมีมูลค่า 1.88 แสนล้านบาท ตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ร้อยละ 16.3 ซึ่งมีจำนวน 3.5 ล้านคน การสนับสนุนสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ซึ่งมียอดคงค้างที่ 3.83 แสนล้านบาท ประกอบกับความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้นทำให้ภาคเอกชนมีการขยายกิจการ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นสาขานี้ในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนสาขาการขนส่งและสถานที่จัดเก็บสินค้า ขยายตัวร้อยละ 8.6 เป็นอีกหนึ่งสาขาที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนสาขาอื่นๆ โดยการขยายตัวในเดือนนี้เป็นผลมาจากจำนวนนิติบุคคลและมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนขยายตัวสูง โดยเฉพาะในสาขาการขนส่งและขนถ่ายสินค้าฯ ในขณะที่สาขาการเงินและการประกันภัยขยายตัวร้อยละ 8.1 เนื่องจากการขยายตัวสูงของมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน โดยเฉพาะในสาขาบริษัทโฮลดิ้งที่ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 35.6 โดยมีสินเชื่อคงค้าง 3.68 ล้านล้านบาท

สำหรับสาขาการขายส่งและขายปลีกขยายตัวร้อยละ 2.3 ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.8 ซึ่งมีมูลค่า 1.24 หมื่นล้านบาท โดยธุรกิจการขายส่งเชื้อเพลิงเหลวมีมูลค่าทุนจดทะเบียนสูงสุด ขณะที่ธุรกิจ Ecommerce มีมูลค่าการลงทุนของผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมีนาคมมีมูลค่ารวมมากกว่าหนึ่งร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตามจำนวนนิติบุคคลที่จดทะเบียนกระจุกตัวอยู่ในเพียง 9 จังหวัดเท่านั้น โดยเกือบครึ่งอยู่ใน กทม.  ขณะที่ทุนจดทะเบียนเฉลี่ยอยู่ที่หนึ่งล้านบาท ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบจำนวนมากซึ่งมีทุนการดำเนินธุรกิจไม่มากนักยังไม่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล ทางกระทรวงพาณิชย์ขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้เร่งจดทะเบียนนิติบุคคล เนื่องจากทางกระทรวงฯ มีนโยบายในการพัฒนา/ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถปรับตัวกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การจดทะเบียนนิติบุคคลยังเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของภาครัฐ เป็นต้น

สำหรับสาขาสำคัญอื่น ๆ เช่น การศึกษา (4.9%) บริการสุขภาพ (2.4%) และ กิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ (3.9 %) ขยายตัวในอัตราที่น่าพอใจ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ 1.3 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 1 ปี ตามการหดตัวของการจ้างงาน จำนวนนิติบุคคล และมูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุนเนื่องจากมีการเร่งลงทุนสูงในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี ซึ่งมียอดคงค้างที่ 6.43 แสนล้านบาท ประกอบกับราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ยังคงเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ดี ชี้ว่า
ภาคอสังหาริมทรัพย์จะยังไปได้ดี ส่วนภาคการก่อสร้างหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.1 เป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาหุ้นสาขาก่อสร้างและการจ้างงาน สอดคล้องกับผู้ประกอบการที่แสดงความกังวลในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน

สำหรับแนวโน้มภาวะการค้าภาคบริการในปี 2561 นางสาวพิมพ์ชนก ระบุว่า “จากข้อมูลในไตรมาสแรกของปี 2561 ชี้ว่าภาคบริการยังคงรักษาโมเมนตัมการขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าน่าจะยังขยายตัวได้ดีในช่วงที่เหลือของปี สำหรับสาขาบริการที่มีศักยภาพและแนวโน้มขยายตัวได้ดี ได้แก่ สาขาขายส่งและการขายปลีก ที่พักแรม บริการด้านอาหาร สาขาขนส่ง บริการทางการเงิน สาขาสุขภาพ และอสังหาริมทรัพย์ โดยสาขาขายส่งและการขายปลีกมีแนวโน้มขยายตัวตามการขยายตัวของ E-commerce และการเพิ่มช่องทางขายของ E-Marketplace ที่มีการเชื่อมโยงกับต่างประเทศมากขึ้น สาขาที่พักแรม ขยายตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นโยบายการท่องเที่ยวเมืองรอง และกระแสการท่องเที่ยวตามวัฒนธรรมไทย สาขาบริการด้านอาหารได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมหกรรมฟุตบอลโลก และการสนับสนุนจากธุรกิจรับส่งอาหารจากแพลตฟอร์มบริการทางออนไลน์ สาขาสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวที่ดีตามกระแส Medical Tourism ซึ่งคาดว่าในระยะต่อไปจะได้รับการตอบรับจากกลุ่มนักลงทุนมากขึ้น ทั้งในแง่ของการลงทุนและการทำการตลาดด้านสุขภาพ ในขณะที่สาขาอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาครัฐและเอกชนที่ยังมีแผนการลงทุนใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง การเข้ามาร่วมทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับที่ต่ำ”

[1] ตัวชี้วัดมูลค่ายอดขาย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เป็นตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้น ซึ่งจะมีการปรับใหม่เมื่อได้รับตัวเลขจริงในเดือนถัดไป

[2] ปรับตัวเลขเนื่องจากแหล่งข้อมูลมีการ Update ตัวเลข

[3] ไม่รวม สปา ธุรกิจความงาม และบริการด้านสุขภาพอื่นๆ

หมายเหตุ

  • กลุ่มตัวชี้วัดด้านผลการดำเนินงานภาคบริการ (Performance) ประกอบด้วย 7 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) มูลค่ายอดขาย (2) จำนวนแรงงาน (3) จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งใหม่สุทธิ (4) มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่สุทธิ (5) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการปัจจุบัน (6) มูลค่าส่งออกบริการ (7) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยตัวชี้วัดในกลุ่มนี้จะสะท้อนสถานการณ์ความเคลื่อนไหวและผลการดำเนินงานของภาคบริการในแต่ละช่วงเวลา
  • กลุ่มตัวชี้วัดด้านศักยภาพและความเชื่อมั่นภาคบริการ (Potential & Confidence) 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) จำนวนนิติบุคคลจดทะเบียนเพิ่มทุน (2) มูลค่าทุนจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มทุน (3) เงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ (4) ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs ภาคการค้าและบริการ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (5) ดัชนีราคาหุ้นภาคบริการในตลาดหลักทรัพย์ โดยตัวชี้วัดในกลุ่มนี้จะสะท้อนศักยภาพ และความเชื่อมั่นนักลงทุนที่มีต่อภาคบริการ
  • รายสาขาย่อยจำนวน 13 สาขา (Sectoral Index) ตามการจัดประเภทตามมาตรฐานอุตสาหกรรมประเทศไทย (TSIC
    ปี 2552) ประกอบด้วย (1) การก่อสร้าง (2) การขายส่งและการขายปลีกการซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ (3) การขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (4) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (5) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (6) กิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย (7) กิจกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ (8) กิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ (9) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (10) การศึกษา (11) กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ (12) ศิลปะ ความบันเทิงและนันทนาการ (13) กิจกรรมการบริการด้านอื่นๆ