เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว

กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและคนในครอบครัวเป็นปัญหาที่สำคัญ ควรได้รับการดูแลแก้ไข และรณรงค์ให้เกิดความตระหนักมากขึ้น

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ได้รับการรับรองจากองค์การสหประชาชาติให้เป็น “วันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 สำหรับประเทศไทย มีมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือน “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” โดยมีการรณรงค์ตลอดทั้งเดือนเพื่อให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันป้องกันความรุนแรง  ที่จะเกิดขึ้นต่อเด็ก สตรีและคนในครอบครัว รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ ไม่เพิกเฉยหรือมองปัญหาเหล่านี้เป็นเพียงปัญหาในครอบครัว ซึ่งปัญหาความรุนแรงในเด็กประกอบไปด้วย การทำร้ายร่างกายเด็ก การละเมิดทางเพศ การทำร้ายทางจิตใจ การละเลยทอดทิ้งเด็ก จากสถิติผู้มารับบริการของศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในระหว่างการระบาดของโควิด 19 มีผู้ถูกกระทำความรุนแรงเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น ในปี 2562-2564 มีจำนวน 15,000-16,000 ราย โดยร้อยละ 40 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้กระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในช่วงการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19  เด็กทั่วโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลายด้าน เช่น การถูกละเมิด ความรุนแรงด้านต่างๆ การถูกแสวงประโยชน์ การถูกกีดกันจากสังคม รวมถึงการถูกแยกจากผู้ปกครอง และจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า  เด็กไทยถูกล่วงละเมิดทางเพศทางออนไลน์สูงมากขึ้น โดยเด็กส่วนใหญ่มักไม่ได้เล่าให้ผู้ปกครองฟัง และมากกว่าร้อยละ 47 ที่ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือได้อย่างไร

นายแพทย์อัครฐาน  จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center: OSCC) เพื่อให้การรักษาพยาบาลและคุ้มครองเด็ก โดยปฏิบัติงานภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พบว่าปัจจุบันการคุกคามความปลอดภัยเด็กผ่านสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นในปีนี้ทางสถาบันฯได้มีการจัดกิจกรรม รณรงค์ยุติความรุนแรงในเด็กและสตรีในหัวข้อ  “บ้านอบอุ่นใจ เด็กปลอดภัย ใช้สื่อสังคมออนไลน์ให้เป็น Keep your kids safe with smart family”  เพื่อให้ความรู้แก่เด็กและผู้ปกครองให้มีความรู้เท่าทันสื่อ สามารถช่วยเหลือเด็กเมื่อประสบความรุนแรงในการใช้สื่อได้ โดยทางสถาบันฯมีคำแนะนำดังนี้ 1. ควรมีการจำกัดเวลาใช้ และตั้งกติกา 2.ควรมีการตรวจสอบเนื้อหาของสื่อที่เด็กใช้  3. มีเวลาให้กับลูกและทำกิจกรรมร่วมกัน 4.สอนทักษะรู้เท่าทันสื่อและความฉลาดทางดิจิทัล โดยรู้จักวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือของสื่อ คิดก่อนโพสต์ ไม่แชร์ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองและผู้อื่น ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว เช่นที่อยู่ เลขบัตรประชาชน ตั้งรหัสให้คาดเดายาก และตรวจสอบบัญชีผู้ใช้ของตนอยู่เสมอ 5. หากเกิดความผิดพลาดในการใช้สื่อหรือถูกคุกคาม เด็กๆ ควรบอกผู้ปกครองและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยควรหยุดการใช้สื่อโซเชียล บล๊อคการติดต่อกับบุคคลที่คุกคามและ Report เพื่อกันไม่ให้บุคคลนั้นใช้โซเชียลชั่วคราว บันทึกหน้าจอเพื่อใช้เป็นหลักฐานหลังจากนั้นให้ลบข้อมูลคุกคามหรือข้อมูลที่ไม่ดีออกเพื่อลดการส่งต่อ และผู้ปกครองคอยสังเกตติดตามอารมณ์และพฤติกรรมเด็กที่อาจได้รับผลกระทบ

#กรมการแพทย์ #สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี # เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและครอบครัว