กรมชลประทาน วางแผนจัดสรรน้ำพร้อมส่งน้ำตามแผนที่วางไว้ในเขตชลประทานทั่วประเทศ

กรมชลประทาน ย้ำมีน้ำต้นทุนดีเพียงพอใช้ต่อการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้ง พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายประพิศ  จันทร์มา  อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบันวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันกว่า 63,794 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) หรือ 84% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้รวมประมาณ 39,839  ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 20,857 ล้าน ลบ.ม. หรือ 84% ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 14,161 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนในปีนี้ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

ในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก รวมทั้งภาคกลาง ของประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูแล้ง ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาแล้ว กรมชลประทาน ได้วางแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2565/66 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ โดยทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำรวม 27,685 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน(24 พ.ย. 65) มีการใช้น้ำไปแล้วรวมประมาณ 2,663 ล้าน ลบ.ม. หรือ 10%  ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา วางแผนจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนหลักไว้รวมกันประมาณ 9,100  ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 449  ล้าน ลบ.ม. หรือ 5% ของแผนฯ

ด้านผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ทั้งประเทศมีการเพาะปลูกไปแล้วรวม 1.42  ล้านไร่ หรือ  13%  ของแผนฯ (แผนเพาะปลูกพืชทั้งประเทศวางไว้รวม 11.06 ล้านไร่) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกไปแล้ว 0.96  ล้านไร่ หรือ 14% ของแผนฯ (แผนเพาะปลูกลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางไว้ 6.74 ล้านไร่) ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้  กรมชลประทาน พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/66 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)เห็นชอบอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่น และกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ ให้เกษตรกรและประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าตลอดฤดูแล้งนี้ ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่จะเพียงพอใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรอย่างไม่ขาดแคลน รวมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต