กระทรวงคมนาคมเปิดการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งของเอสแคป ครั้งที่ 7

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งของเอสแคป ครั้งที่ 7 ร่วมกับ นาง Armida Salsiah Alisjahbana เลขาธิการบริหารเอสแคป โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมประชุมฯ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ค.ศ. 2022 – 2026 ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และมุ่งมั่นพัฒนาการขนส่งอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs โดยมีนโยบายที่สำคัญมากมาย โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบโครงข่ายโลจิสติกส์ระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาคและการขนส่งแบบไร้รอยต่อ เช่น โครงการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง หรือ MR – MAP โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน การพัฒนาด้านรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 3 และสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ตลอดจนแผนการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะในเขตกรุงเทพและปริมณฑล การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ที่เชื่อมโยงในระดับประเทศและระดับภูมิภาคควบคู่กับการพัฒนาท่าเรือบก นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน โดยแบ่งออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติผู้ใช้ถนน มิติยานยนต์ และมิติสภาพแวดล้อมทางถนน รวมถึงการปฏิรูปขั้นตอนการทำใบอนุญาตขับขี่ภายในประเทศตามแนวทางของอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการจราจรทางถนนปี ค.ศ. 1968 ตลอดจนการได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนด้านความปลอดภัยทางถนน (UNSRF) เพื่อดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาแผนแม่บทด้านความปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ในด้านการขนส่งคาร์บอนต่ำ โดยประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการการตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศ (Nationally Determined Contributions : NDC) ภาคการขนส่งโดยกำหนดเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 31 ล้านตันภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงการจัดทำแผนนำทางด้านยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV Roadmap) โดยตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 และร้อยละ 50 ภายในปี 2035 รวมถึงการส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ เรือ และรถไฟพลังงานไฟฟ้าซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศ

สำหรับการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการขนส่งของเอสแคป ครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน 2565 มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือเกี่ยวกับความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาด้านการขนส่งในระดับภูมิภาคและความร่วมมือในการดำเนินการตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีด้านการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ค.ศ. 2022 – 2026) ซึ่งได้มีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม 2564 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ รวมถึงข้อมติของคณะกรรมาธิการเอสแคป และข้อริเริ่มระดับโลกต่าง ๆ รวมถึงจะมีการแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ และอภิปรายหารือเชิงนโยบายด้านการขนส่ง