รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช รวมทั้งสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อลดปัญหาการขยายตัวของวัชพืชที่อาจสร้างความเสียหายในพื้นที่ทางน้ำชลประทานได้ รวมไปถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำและส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

2. สภาพอากาศ
หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนล่างจะเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทยตอนบน ทำให้ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง และมีฝนตกหนักมากบางแห่งใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,676 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,784 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,735 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,161 ล้าน ลบ.ม. (78%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,403 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 1,245 ล้าน ลบ.ม. (6%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 304 ล้าน ลบ.ม. (4%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
กรมทรัพยากรน้ำบาดาลสรุปผลการประเมินและวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำ ณ โรงแรมฟอร์จูน วิวโขง นครพนม พบว่าภายหลังการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระเติมน้ำดังกล่าวพบว่า ระดับน้ำบาดาลเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ทำการทดลอง ซึ่งสามารถนำไปผลิตประปาหมู่บ้าน ทำการขยายพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำระดับตื้น นอกจากนี้ในระยะยาวการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินจะช่วยรักษาแหล่งน้ำบาดาลให้สมดุล พร้อมทั้งยังช่วยบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัยและภัยแล้งได้อีกด้วย