พิธีประกาศผลและมอบรางวัลการประกวด “Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022”

เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายกันแล้วกับการประกวด Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 หรือ PM AWARD 2022 โครงการประกวดเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ ที่เปิดโอกาสให้เหล่านักนวัตกรคนรุ่นใหม่ได้ร่วมสร้างสรรค์ไอเดียสุดล้ำพัฒนา นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพ และใช้งานได้จริง เพื่อขับเคลื่อนงานการสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนสู่สังคมไทย

สำหรับการประกวดปีนี้เรียกได้ว่าจัดหนัก จัดเต็ม เหล่านักนวัตกรส่งผลงานนวัตกรรม ไอเดียสุดปังความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เข้าร่วมประกวดอย่างล้นหลามกว่า 290 ทีม จากทั่วประเทศ ภายใต้โจทย์สำคัญ “การสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนเพื่อคนไทย” โดยในปีนี้ความพิเศษที่เพิ่มขึ้นมาคือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มภาคีเครือข่าย กลุ่มบุคคลทั่วไปและ Start Up สามารถส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมประกวดได้ด้วย ถือเป็นการขยายกลุ่มเป้าหมายในการประกวดให้กว้างขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งการประกวดในปีนี้มีการคัดเลือกผลงานให้เหลือ จำนวน 41 ผลงานจาก 290 ผลงานที่ส่งเข้าประกวด เพื่อลุ้นว่าผลงานจากทีมไหนบ้างที่เข้าตากรรมการและจะได้รับรางวัลจากการประกวดในครั้งนี้

ต้องบอกว่าการประกวด PM AWARD 2022 ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันจัดขึ้นนั้น ได้รับความสนใจจากเหล่านักพัฒนานวัตกรรมคุณภาพทั่วฟ้าเมืองไทยเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้เห็นว่ายังมีนวัตกรอีกมากมายที่พร้อมจะพัฒนานวัตกรรมในการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อคนไทย และเหนือสิ่งอื่นใดการประกวด PM AWARD 2022 ในปีนี้ ความสำเร็จไม่ได้มีเพียงแค่การที่จะได้เห็นผลงานนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ถือว่าเวที PM AWARD 2022 แห่งนี้ยังเป็นที่แจ้งเกิดของเหล่า “นักนวัตกรคนรุ่นใหม่” ไฟแรงที่มีหัวใจสุขภาวะ มาเป็นแนวร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมคุณภาพเพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยอีกด้วย

“มากกว่าการสร้างนวัตกรรม คือการได้มาซึ่งเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรรุ่นใหม่ ที่มีหัวใจสร้างเสริมสุขภาพ” ดร. สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. ได้พูดถึงการประกวดในครั้งนี้ด้วยความปีติ

“ก่อนอื่นต้องขอแสดงความดีใจกับทุกทีมที่ได้รับรางวัลการประกวดนวัตกรรมในปีนี้ ในนามของ สสส. เอง รู้สึกดีใจที่ได้เห็นเหล่านักนวัตกรรุ่นใหม่ที่มีไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ในการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพเพิ่มเข้ามาอย่างคับคั่ง ปีนี้เราเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป Start Up รวมถึงภาคีเครือข่ายของ สสส. ด้วย ดีใจที่ได้เห็นผลงานนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างที่ทราบกันดีว่าเราอยู่ในยุคที่มีแต่ความผันผวน สิ่งต่าง ๆ ต้องปรับตัวตลอด เราจึงต้องการนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต การแก้ไขปัญหาและการดูแลสุขภาพตลอดเวลา และตัวนักนวัตกรเองก็ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่มีคุณค่า ที่จะมาช่วยกันสานพลัง สร้างความคิดใหม่ ๆ พัฒนานวัตกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้คนกับคนไทยร่วมกันต่อไปในอนาคต ทุกผลงานที่ได้รับรางวัลจะต้องพัฒนาต่อยอดและนำไปใช้ได้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน” ดร. สุปรีดา กล่าว

และอีกหนึ่งความพิเศษของปีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีและมอบรางวัลให้กับทีมผู้เข้าแข่งขันอีกด้วย โดยได้ให้โอวาทกับทีมผู้เข้าแข่งขันด้วยว่า “ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ได้รับรางวัลและชื่นชมทุกทีมที่ส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมการประกวดในครั้ง ผมมีความประทับใจในทุกชิ้นงาน ชื่นชมในความพยายามที่ทุกทีมได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสุขภาพในเชิงพื้นที่ และขอบคุณ สสส. ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้นำนวัตกรรมที่ดีมีคุณภาพมาสู่สังคมไทย เสริมความมั่นคงด้านการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทยให้มากยิ่งขึ้น”

ผลการประกวด “Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022”

รางวัลชนะเลิศ กลุ่มมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้แก่ ทีม SMD Team จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝ่ายมัธยมศึกษา (มอดินแดง) จ.ขอนแก่น กับผลงานกิจกรรมเสริมสร้างความรู้เรื่องบุหรี่ ด้วยนวัตกรรมบอร์ดเกม Just say No

รางวัลชนะเลิศ กลุ่ม ปวช. หรือเทียบเท่า ได้แก่ทีม F two K วิทยาลัยเทคโนโลยีพาณิชยการลานนา จ.เชียงใหม่ กับผลงาน Wireless helmet signal light อุปกรณ์เสริมหมวกกันน็อกนิรภัยอัจฉริยะ

รางวัลชนะเลิศ กลุ่มบุคคลทั่วไป/Start Up ได้แก่ทีม GreenSmooth บริษัท Rambler Enterprise จำกัด กรุงเทพมหานคร กับผลงานน้ำผักผลไม้ออร์แกนิคปั่น จำหน่ายผ่านตู้ Vending Machine 24 ชั่วโมง/7 วัน

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มภาคีเครือข่าย จำนวน 5 ทีม ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ ได้แก่

1. ทีม Gen Z smoke-free School คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม กับผลงานแนวปฏิบัติที่ดีลดนักสูบหน้าใหม่ ลด ละ เลิกบุหรี่ Gen Z smoke-free school

2. ทีม Mappa กับผลงาน Mappa platform Application ที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ สำหรับครอบครัวเด็กวัย 3-8 ปี

3. คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับผลงานกล้องอัจฉริยะ สำหรับงานด้านความปลอดภัยทางถนน

4. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานโปรแกรมสอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กสำหรับผู้ปกครองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (เน็ตป๊าม้า: Net PAMA)

5. บริษัท ทูลมอโร จำกัด กับผลงาน คุณเปลี่ยนลูกเปลี่ยน พัฒนานวัตกรรมระบบการเรียนรู้ออนไลน์ สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองในการสื่อสารเชิงบวกกับบุตรหลานเพื่อแก้พฤติกรรมการติดหน้าจอ

Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2022 เป็นมากกว่าการประกวดแข่งขัน แต่ยังได้สร้างเมล็ดพันธุ์นักนวัตกรคนรุ่นใหม่หัวใจสุขภาวะที่พร้อมจะสานพลัง คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปพร้อมกันบนถนนแห่งการสร้างเสริมสุขภาพสายนี้ ร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีเพื่อคนไทย

สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมสานพลัง สร้างนวัตกรรม สื่อสารสุข มุ่งพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสุขภาพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในการลดพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพ และสามารถนำไปใช้ได้จริง ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสูด เพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน