รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำ ลงพื้นที่เพื่อดำเนินการติดต่อ ประสานข้อมูล และศึกษาสถานภาพทางกายภาพ ชีวภาพ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนภารกิจพื้นที่ชุ่มน้ำในพื้นที่ลำโดมใหญ่และพื้นที่ชุ่มน้ำในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าป่ายอดโดม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเตรียมเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้ง

2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้บางพื้นที่

3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,815 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,927 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,732 ล้าน ลบ.ม. (93%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,125 ล้าน ลบ.ม. (78%)

4. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 ถึงปัจจุบัน)
4.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,506 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,913 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 881 ล้าน ลบ.ม. (4%)
4.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 206 ล้าน ลบ.ม. (2%)

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
การประปานครหลวง นำผลงาน “หุ่นยนต์สำรวจคลองส่งน้ำดิบ” หรือ “วารีกุญชร” เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน “The International Trade Fair-Ideas, Inventions and New Products” (iENA 2022) ณ เมืองนูเรมเบิร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลเหรียญเงิน (Silver Medal) จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และรางวัล Special Award จาก Taiwan Prominent Inventor League โดยผลงานนี้ถูกพัฒนาเพื่อนำมาใช้ทดแทนการสำรวจความลึกคลองส่งน้ำดิบด้วยการใช้เรือพาย มีการติดตั้งเซนเซอร์แบบดิจิทัล สำหรับตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นที่สำคัญต่อกระบวนการผลิตน้ำประปา อาทิ ความนำไฟฟ้า ความขุ่น อุณหภูมิ เป็นต้น เพื่อดึงข้อมูลการวัดจากหุ่นยนต์แสดงผลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต