กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้ดำเนินการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรพลังงานแสงอาทิตย์ ณ บ้านโคกตะแบง หมู่ที่ 5 ตำบลดงเย็น อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร และโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ 500 ไร่ ณ บ้านเชียงกรม หมู่ที่ 14 ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี และยังได้ทำการแนะนำวิธีการใช้งานและการบำรุงรักษาให้แก่หน่วยงานผู้รับมอบ ตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน รูปแบบที่ 2 ณ บ้านโพธิ์ทอง หมู่ที่ 7 ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
2. สภาพอากาศ
ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกา ในขณะที่ลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
สำหรับบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ สำหรับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนยังคงมีอากาศเย็นในตอนเช้า
3. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
3.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,760 ล้าน ลบ.ม. (75%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 35,958 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,646 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,157 ล้าน ลบ.ม. (62%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,117 ล้าน ลบ.ม. (78%)
4. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพิจารณาแนวคิด วิธีการในการวิเคราะห์และออกแบบข้อมูลภายใต้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(Actionable Intelligence Policy for Eastern Economic Corridor) หรือ AIP EEC เพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC โดยที่ AIP สามารถคาดการณ์สถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ใน EEC ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้ AIP EEC จะสามารถนำมากำหนดเป็นแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ได้หลากหลาย