รายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานตาม 10 มาตรการ รองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2565/66
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ลงพื้นที่ติดตามงานก่อสร้างสระเติมน้ำ โครงการทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล โดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยตะเพิน พื้นที่บ้านหนองเข้ หมู่ที่ 7 ตำบลช่องด่าน อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อให้การดำเนินงานเป็นตามแผนงาน แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถใช้สระเติมน้ำเพื่อสาธารณประโยชน์ ลดปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ทดแทนและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลได้อย่างยั่งยืน

2. แหล่งน้ำทั่วประเทศ
2.1 แหล่งน้ำทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การ 43,866 ล้าน ลบ.ม. (76%) แบ่งเป็น แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 36,051 ล้าน ลบ.ม. (75%) ขนาดกลาง 369 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 4,659 ล้าน ลบ.ม. (92%) และขนาดเล็ก 139,903 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 3,156 ล้าน ลบ.ม. (62%)
2.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) ปริมาณน้ำใช้การ 14,107 ล้าน ลบ.ม. (78%)

3. ผลการจัดสรรน้ำ (สะสมตั้งแต่ 1 พ.ย. 65 – ปัจจุบัน)
3.1 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถจัดสรรน้ำได้มีจำนวน 35 แห่ง มีปริมาณน้ำใช้การทั้งสิ้น 35,625 ล้าน ลบ.ม. (75%) มีแผนการจัดสรรน้ำ 21,892 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 556 ล้าน ลบ.ม. (3%)
3.2 พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีแผนการจัดสรรน้ำ 8,600 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการจัดสรรน้ำแล้ว 128 ล้าน ลบ.ม. (1%)

4. คุณภาพน้ำ และแจ้งเตือนน้ำทะเลหนุนสูง
4.1 คุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ในแม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
4.2 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า คาดว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงสุด เวลา 08.17 น. ประมาณ 1.83 ม. จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติวิเคราะห์แล้วพบว่ายังไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา

5. การบริหารจัดการน้ำ การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เดินหน้าโครงการ “การเสริมสร้างศักยภาพให้ชุมชนบริหารจัดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการผลิตน้ำประปาจากน้ำฝน” ติดตั้งชุดผลิตน้ำประปาจากน้ำฝนและผลิตน้ำประปาพร้อมดื่มแจกจ่ายให้กับจังหวัดสงขลา ในพื้นที่ชุมชน อบต.บ้านขาว หมู่ที่ 2 และ 3 ระบุขณะนี้ครัวเรือนสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ที่ 0.437 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี