เลขาธิการ สดช. ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

เลขาธิการ สดช. ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์นโยบายและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้การต้อนรับและร่วมประชุมหารือกับคณะผู้บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ณ ห้องประชุม ONDE-4 ชั้น 9 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

เพื่อแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพและสังคม ที่มีคุณภาพในบริบทที่แตกต่างกัน นำไปสู่การสร้างนโยบายและแผนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อื่นๆ ต่อไป

นายภุชพงค์ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายและแผนระดับชาติ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) โดยนโยบายและแผนดังกล่าว มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2562 และมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานมาเป็นลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมของโลก และของประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้พลวัตทางเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เกิดการหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน และเกิดการปฏิวัติโครงสร้างรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การทำงานของรัฐ และกระบวนการ ทางสังคมต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า Digital Transformation ในทุกภาคส่วนของสังคม ส่งผลให้นโยบายและ แผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาจไม่สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ ในปัจจุบัน

“สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) จึงได้ทบทวนและปรับปรุงนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว พร้อมทั้งปรับทิศทาง เป้าหมาย ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับบริบทและสถานการณ์ต่าง ๆ และเป็นการเตรียมการสำหรับ การนำประเทศไทยก้าวเข้าสู่ภูมิทัศน์การพัฒนาดิจิทัลระยะที่ 3 หรือที่เรียกว่า Full Digital Transformation ในปี พ.ศ. 2570 และก้าวเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือที่เรียกว่า Global Digital Leadership

โดยมุ่งเน้นเกี่ยวกับ การพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างระบบอัจฉริยะในทุกภาคส่วน การทำให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล การทำให้ภาครัฐมีบริการรูปแบบดิจิทัลแบบเบ็ดเสร็จ เข้าถึงได้ง่าย ตอบสนองทุกภาคส่วน การทำให้กำลังคน ทุกสาขาอาชีพมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการประกอบอาชีพ

และกำลังคนด้านดิจิทัลมีคุณภาพและปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของตลาด และการทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมั่นคงและปลอดภัย นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป” นายภุชพงค์ฯ กล่าวเพิ่มเติม