อนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด วางแนวทางบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด บูรณาการหน่วยงานในระดับจังหวัด

คณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติด เดินหน้าพัฒนาระบบบำบัดยาเสพติดมีคณะทำงานบูรณาการ คัดกรองฯ ระดับจังหวัด, กำหนดบทบาทหน้าที่นักจัดการระบบและทีมสหวิชาชีพในการบำบัดฟื้นฟู ระดับจังหวัด, บริหารจัดการส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติดแบบฟื้นฟูระยะยาวในเขตสุขภาพ ส่วนกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติดใช้แนวทางการบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เตรียมอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของหน่วยงานภาคีเครือข่ายอีก 480 คน

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทหลักในด้านการบำบัด ฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด ซึ่ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ เพื่อเร่งรัดการดำเนินงาน โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการระบบบำบัด ฟื้นฟู ติดตามผู้ติดยาเสพติดได้เห็นชอบแนวทางการดำเนินงาน 4 เรื่อง คือ

1.การตั้งคณะทำงานบูรณาการ คัดกรอง บำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นรองประธาน ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการบำบัดรักษาและฟื้นฟู

2.การกำหนดบทบาทหน้าที่และแผนการดำเนินงานนักจัดการระบบและทีมสหวิชาชีพในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ระดับจังหวัด (System Manager & Case Manager :SM/CM)

3.การจัดการบริหารโควตาผู้ป่วยยาเสพติดแบบฟื้นฟูระยะยาวในเขตสุขภาพ จำนวน 5,000 ราย ในสถานฟื้นฟูฯ 61 แห่ง โดยมีแนวทางการส่งต่อผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยนำใบส่งตัวไปยังสถานฟื้นฟูฯ ด้วยตนเอง และส่งผู้ป่วยไปตามรอบการจัดสรรที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนด

4.แนวทางการดำเนินงานบำบัดโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (CBTx) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด (สีเขียว) ให้เป็นการบริการภายใต้ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม

โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนด้านวิชาการและบุคลากรในพื้นที่ ซึ่งหากแผนงานโครงการใดมีความจำเป็นเร่งด่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและตามมติที่ประชุมของคณะอนุบำบัดฯ ชาติ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน แต่โครงการนั้นๆ ไม่ได้รับสนับสนุนงบประมาณประจำให้ส่งแผนงานมาที่ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (สลบ.สธ.) เพื่อดำเนินการของบกลางต่อไป

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ร่วมกับ โรงพยาบาลธัญญารักษ์ในภูมิภาค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ปทุมธานี และสงขลา ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานในสถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด รุ่นที่ 1 มีผู้เข้ารับการอบรมจาก กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และกรมการปกครอง รวม 240 คน ในปีงบประมาณ 2566 จะจัดการอบรมอีก 2 รุ่น รวม 480 คน เพื่อให้มีบุคลากรครอบคลุมสถานฟื้นฟูของภาคีเครือข่ายทุกแห่งทั่วประเทศ