กรมทางหลวงชนบท หารือร่วม 6 หน่วยงาน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม

กรมทางหลวงชนบท หารือร่วม 6 หน่วยงาน เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมป้องกันปัญหา โลมาอิรวดีสูญพันธุ์บริเวณทะเลสาบสงขลา ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (อทช.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในการดำเนินการกรณีคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา – อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา

โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เร่งหารือร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางให้ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อนำสู่การอนุรักษ์ คุ้มครองและขยายพันธุ์โลมาอิรวดี ตลอดจนฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทะเลสาบสงขลาให้เหมาะสมและยั่งยืน ดังนั้น ทช. จึงได้นำแนวทางดังกล่าวมาขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดย ทช.เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1) กระทรวงคมนาคม

2) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

4) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

5) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

6) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

โดยมีนางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุมหารือแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลา ในวันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมธารสิทธิ์พงษ์ กรมทางหลวงชนบท กรุงเทพฯ

อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า การประชุมหารือในครั้งนี้ ได้ข้อสรุปในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกันว่าจะมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา ระหว่างกระทรวงคมนาคม (คค.) กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยมีคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลงความมือ (MOU)

ประกอบด้วย ผู้แทนกรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ โดยจะมีกำหนดการเบื้องต้นที่จะหารือครั้งต่อไป ในวันที่ 8 และ 22 พฤศจิกายน 2565 เพื่อวางแผนการจัดทำร่าง MOU และในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 จะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารเพื่อพิจารณาเห็นชอบกรอบความร่วมมือ

จากนั้นจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอพิจารณาอนุมัติในเดือนธันวาคม 2565 และคาดว่าจะมีพิธีลงนาม MOU บริเวณจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างจังหวัดพัทลุง ในเดือนมกราคม 2566 ต่อไป

ในส่วนของ ทช.ได้มีมาตรการ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ก่อนดำเนินการก่อสร้าง จะต้องทำการศึกษาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อนำผลการศึกษามาดำเนินการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ระหว่างก่อสร้าง หากมีอะไรส่งผลกระทบต่อโลมาอิรวดีหรือสิ่งแวดล้อม ทช.จะปรับเปลี่ยนแผนดำเนินงานเพื่อลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด และหลังการก่อสร้าง ทช.จะติดตามผลการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อที่จะพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ทช.จะนำข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านมาทำการศึกษา เพื่อหาแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลาต่อไป

อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า สะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเกิดขึ้นจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการการเดินทางและโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก ของทะเลสาบสงขลา จากความต้องการดังกล่าว กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาพร้อมถนนเชื่อมต่อกับถนนโดยรอบ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณถนนทางหลวงชนบทสาย พท.4004 กม.ที่ 3+300 บริเวณบ้านฝาละมี ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง วางแนวข้ามทะเลสาบสงขลาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมต่อกับจุดสิ้นสุดโครงการที่ถนน อบจ.สงขลา (ถนนรอบเกาะใหญ่) บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา มีช่วงข้ามทะเลสาบ ยาว 6.600 กิโลเมตร ระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร

เมื่อก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จจะสามารถพัฒนาโครงข่ายถนนในบริเวณดังกล่าว ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง และลดระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว และใช้เป็นเส้นทางอพยพ เมื่อมีภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างสะพานมีระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี (ตั้งแต่ปี 2566 – 2568) มีวงเงินรวมทั้งสิน 4,841 ล้านบาท (สี่พันแปดร้อยสี่สิบเอ็ดล้านบาท)

โดยกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ตามแผน การบริหารหนี้สาธารณะ อัตราส่วนของแหล่งเงินกู้และเงินงบประมาณเป็น 70:30 ซึ่งคาดว่าจะสามารถก่อสร้างได้ปลายปี 2566 และพร้อมเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้ภายในปี 2569