หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ศูนย์สภากาชาดไทยเวชพาหน์เฉลิมพระเกียรติ ให้บริการประชาชนถึงบ้าน

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ศูนย์สภากาชาดไทยเวชพาหน์เฉลิมพระเกียรติ ปรับแนวคิดเปลี่ยนการให้บริการประชาชนถึงบ้านด้วยเรือท้องแบนสภากาชาดไทย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย มีการให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป ฝังเข็มประยุกต์ บริการทางทันตกรรม และแพทย์ทางเลือกให้บริการด้านกายภาพบำบัด เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ณ ศูนย์สภากาชาดไทยเวชพาหน์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

โดยที่ผ่านมาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ แต่ในขณะนี้สถานการณ์มีแนวโน้มดีขึ้น จึงได้กำหนดปฏิบัติงานดังเดิม ประกอบกับสถานการณ์อุทกภัย สำนักงานบรรเทาทุกข์ ฯ เกรงว่าประชาชนจะไม่สะดวกในการเดินทางมารับบริการ จึงปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการประชาชน จากเดิมให้ประชาชนมารับบริการด้วยตนเอง เป็นการออกให้บริการประชาชนที่บ้านด้วยเรือท้องแบนสภากาชาดไทยแทน โดยตรวจรักษาโรคทั่วไป รวมทั้งติดตามอาการของโรคเรื้อรังที่เป็นอยู่เดิมด้วย ทั้งนี้ จะให้บริการในวันที่ 27 และ 28 ตุลาคม 2565 ในพื้นที่ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง

โดยหลังจากนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่สำนักงานบรรเทาทุกข์ ฯ จากที่ไม่สามารถดำเนินการได้นั้น ก็จะเริ่มออกให้บริการประชาชน ณ ศูนย์สภากาชาดไทยเวชพาหน์เฉลิมพระเกียรติเป็นประจำ เดือนเว้นเดือน โดยให้บริการฝังเข็มประยุกต์ แพทย์ทางเลือกให้บริการด้านกายภาพ บริการทางทันตกรรม และการตรวจรักษาโรคทั่วไป

สำหรับศูนย์สภากาชาดไทยเวชพาหน์เฉลิมพระเกียรติ ตำบลบางจัก อำเภอวิเศษชัยชาญ  จังหวัดอ่างทอง นั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2542 เพื่อปฏิบัติภารกิจในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชนในบริเวณพื้นที่โดยรอบ โดยหน่วยแพทย์สำนักงานบรรเทาทุกข์ ฯ ออกให้บริการเป็นครั้งคราวตามความเหมาะสม รวมทั้งหน่วยแพทย์เฉพาะโรค และหน่วยทันตกรรม ตามความต้องการของประชาชน ตลอดจนงานโครงการต่าง ๆ และสำรองเครื่องอุปโภค บริโภค ไว้ยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังใช้เป็นที่เก็บเรือท้องแบนของสภากาชาดไทย เพื่อนำออกไปใช้ในเหตุการณ์จำเป็น

อย่างไรก็ตามในช่วงการเกิดอุทกภัยตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานบรรเทาทุกข์ ฯ ได้ประสานกับหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการร้องขอผ่านแอปพลิชัน “พ้นภัย” ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน – 26 ตุลาคม 2565 ประกอบด้วย

– มอบชุดธารน้ำใจสภากาชาดไทย ช่วยผู้ประสบภัย จำนวน 198,764 ชุด มูลค่า 198,764,000 บาท ในพื้นที่ 49 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร อุทัยธานี พิษณุโลก หนองบัวลำภู ลพบุรี ระยอง สมุทรปราการ นครนายก            ศรีสะเกษ อ่างทอง ชัยนาท ร้อยเอ็ด พิจิตร จันทบุรี เลย ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น สิงห์บุรี อุตรดิตถ์ สระบุรี ลำพูน ลำปาง บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา นนทบุรี ปราจีนบุรี สุรินทร์ ตาก มหาสารคาม สุโขทัย ชัยภูมิ นครปฐม กำแพงเพชร เชียงราย อุดรธานี เพชรบูรณ์ เพชรบุรี กระบี่ กาฬสินธุ์ สตูล นครสวรรค์ ยโสธร ภูเก็ต พังงา และสุพรรณบุรี

– หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่ประเมินความเสียหาย และสำรวจความต้องการความช่วยเหลือ ในพื้นที่อำเภอหล่มสัก และอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอวารินชำราบ อำเภอดอนมดแดง และอำเภอสำโรงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี

– หน่วยเรือท้องแบนสภากาชาดไทย จำนวน 9 ลำ ช่วยลำเลียงผู้ประสบภัย ในพื้นที่อำเภอ สามเงา จังหวัดตาก และอำเภอเมืองฯ อำเภอวารินชำราบ อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอทุ่งเขาหลวง และอำเภอเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท

– หน่วยรถระนาบสูง หรือ ยูนิม็อก จำนวน 2 คัน ช่วยรับ-ส่งประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง ฯ และอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

– หน่วยรถผลิตน้ำดื่มสภากาชาดไทย 1 หน่วย ประจำที่สถานีกาชาดที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี โดยผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี