รมว.พม. ย้ำศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ดูแลทุกคนจากพึ่งพาสู่พอเพียงและยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

วันที่ 22 ตุลาคม 2565 เวลา 14.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ลงพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก เพื่อประชุมติดตามความก้าวหน้า รับฟังปัญหา อุปสรรค และให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก อำเภอเนินมะปราง

จากนั้น เดินทางไปประชุมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลไทรย้อย ณ เทศบาลตำบลไทรย้อย อำเภอเนินมะปราง โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง พม. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพิษณุโลกพร้อมด้วยผู้แทนทีม One Home พม. ผู้บริหารหน่วยงานท้องถิ่น ผู้แทนภาคีเครือข่าย และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม

นายจุติ กล่าวว่า กระทรวงมีความคิดในการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลมาตั้งแต่ปี 2547 นับเป็นความคิดที่ก้าวหน้ามาก ซึ่งปัจจุบัน ปัญหาสังคมเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก และศูนย์ฯ จะช่วยแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้อย่างแท้จริง ด้วยแนวคิดของการพึ่งตนเองและการดูแลซึ่งกันและกัน เพราะรู้ถึงปัญหาของตัวเองมากที่สุด และจะได้รับการแก้ปัญหาทั้งหมด โดยพ่อบ้านระดับอำเภอ คือนายอำเภอ ถ้าการแก้ปัญหาเกินระดับอำเภอ ต้องไปขอความช่วยเหลือที่พ่อบ้านระดับจังหวัดคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่วันนี้ เรามีกระทรวง พม. คือ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบล ซึ่งมีหน้าที่ทำให้ทุกคนมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือ กระทรวง พม. จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าจะยากจน ลำบาก เราจะต้องเข้ามาดูแลทุกคน จากการพึ่งพามาสู่ความพอเพียง และจากความพอเพียงมาสู่ความยั่งยืน เพราะกระทรวง พม. เป็นหน่วยงานราชการที่มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลบ้านน้อยซุ้มขี้เหล็ก เป็นศูนย์กลางการบูรณาการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 12 หมู่บ้าน ซึ่งมีผู้สูงอายุ 1,575 คน คนพิการ 337 คน ผู้ป่วยติดเตียง 15 คน และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 90 ครอบครัว ในขณะที่ ศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลไทรย้อยให้การดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ซึ่งมีผู้สูงอายุ 1,640 คน คนพิการ 299 คน ผู้ป่วยติดเตียง 16 คน และครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว 67 ครอบครัว ทั้งนี้ ได้มีการหารือร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ์ หนี้สินครัวเรือน ยาเสพติด การว่างงาน ต้นทุนการผลิตการเกษตรที่สูง และสุขภาพในชุมชน โดยประชาชนมีความต้องการความช่วยเหลือในเรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกิน การตั้งกองทุนฟื้นฟูเพื่อลดภาระหนี้สิน การลดต้นทุนในการผลิตการเกษตร การส่งเสริมด้านสุขภาพของคนทุกช่วงวัย และการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน