สดช. สานพลัง สภาดิจิทัลฯ ร่วมลงนาม MOU เตรียมเปิดตัวโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ภาครัฐ 

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร กับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ด้านดิจิทัล ต่อยอดขยายผลออกไปในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce) นำร่องโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ภาครัฐ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนให้ทั่วถึงและมีมาตรฐานทัดเทียมทั่วโลก

วันที่ 12 ตุลาคม 2565 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) โดยนางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลฯ ในรูปแบบผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมพิธีลงนามและรับชมการเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้กว่า 300 คน

สำหรับ MOU นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรของประเทศ สนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ และประชาสัมพันธ์หลักสูตร e-Learning การสนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านดิจิทัล การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและเฉพาะทาง รวมถึงการรับรองหลักสูตรด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานร่วมกัน เพื่อยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของบุคลากรทุกภาคส่วนของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลประเทศให้มีมาตรฐานทัดเทียมสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยได้จัดทำโครงการ “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ที่อาจยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง หลัง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยภายหลังการลงนามในครั้งนี้ว่า สดช. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัวหลายๆ ด้าน ในรูปแบบการทำงาน New Normal ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเผชิญกับโลกการแข่งขันและการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทรัพยากรบุคคลจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา สดช. จึงได้ร่วมมือกับ สภาดิจิทัลฯ ลงนาม MOU เพื่อเร่งกำหนดทิศทางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของประเทศ โดยการพัฒนาทักษะ Upskill/ Reskill ให้บุคลากรในองค์กรเป็นคนรู้รอบด้าน มีทักษะใหม่ๆ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ รวมทั้ง  Soft skill  เนื่องจากตลาดงานในอนาคตจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในหลายด้านครอบคลุม สามารถทำงานแบบเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทน

“สดช. จะสนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์และประชาสัมพันธ์หลักสูตร การส่งเสริมพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ สนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรสำหรับทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและเฉพาะทาง รวมทั้ง การรับรองหลักสูตรด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาทักษะของกำลังคนสอดคล้องกับตลาดแรงงาน โดยมุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียมและลดการเหลื่อมล้ำ เพื่อยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของบุคลากรของไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งในวันนี้ได้ร่วมการเสวนาเรื่อง การเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจและองค์กรให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้วย” นายภุชพงค์ฯ กล่าว

ด้านนางเขมนรินทร์ รัตนาอัมพวัลย์ รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (สภาดิจิทัลฯ) กล่าวถึงความร่วมมือในการลงนาม MOU ครั้งนี้ว่า สอดคล้องกับพันธกิจสำคัญของสภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรสำคัญที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน รัฐบาล และภาคประชาชนในการเดินหน้าผลักดันนโยบายหรือแนวทาง  ด้านดิจิทัลต่างๆ  ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ มีขอบเขตความร่วมมือใน 3 ด้านสำคัญ คือ 1) ความร่วมมือกัน ในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์และประชาสัมพันธ์หลักสูตร e-Learning  2) ความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านดิจิทัลในการดำเนินโครงการ  และ 3) ความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่ทั้งสององค์กรมีอยู่ร่วมกัน รวมถึงการจัดกิจกรรมอื่น ที่เป็นประโยชน์และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในภาพรวม

“ความร่วมมือในครั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ มีหน้าที่หลักในการช่วยพัฒนาเนื้อหาหลักสูตร e-Learning  โดยมุ่งเน้นนำเสนอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจในเรื่องของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้องค์กรและประชาชนสามารถใช้ข้อมูลได้อย่างเหมาะสมไม่ก่อให้เกิดเป็นการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของเจ้าของข้อมูล” นางเขมนรินทร์ฯ กล่าว