พลเอก ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะถก 2 คณะอนุฯด้านน้ำ เห็นชอบแนวคิดเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันออกของ กทม. ลดผลกระทบน้ำท่วมให้ประชาชน

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 เวลา 09.30 น. ณ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2565 และการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 1/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม อาทิ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำตามนโยบายของรัฐบาล ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ลดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง และยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยการประชุมทั้ง 2 คณะในวันนี้ เป็นการประชุมครั้งแรก ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ชุดใหม่ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อพิจารณาขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีที่ได้วางไว้ โดยเฉพาะแนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากปัญหาน้ำท่วม โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 การปรับปรุงระบบระบายน้ำในพื้นที่ กทม. แบ่งเป็น ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เช่น งานปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กจากคลองหนองบอน และคลองมะขามเทศ เชื่อมโยงกับคลองประเวศบุรีรมย์ ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงเครื่องสูบน้ำของสถานีสูบน้ำพระโขนงให้มีประสิทธิภาพในการสูบระบายน้ำมากยิ่งขึ้น และการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กในพื้นที่คลองสายสำคัญที่เชื่อมต่อกับคลองประเวศบุรีรมย์ เช่น คลองจระเข้ขบ คลองสองต้นนุ่น คลองทับยาว เป็นต้น เพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ

และกลุ่มที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อ กทม. เช่น โครงการก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายจากบึงหนองบอนถึงคลองประเวศบุรีรมย์และประตูระบายน้ำลาดกระบัง โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพสถานีสูบน้ำสำโรง โครงการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กคลองลำปลาทิว เป็นต้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ จ.ปทุมธานี กทม. และ จ.สมุทรปราการ ลดความเดือดร้อนของประชาชนและความเสียหายต่อทรัพย์สินจากปัญหาน้ำท่วม อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่นอกคันกั้นน้ำพระราชดำริได้อีกด้วย

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบและให้นำเสนอแนวคิดต่อ กนช. และให้ กทม.เร่งรัดดำเนินการแผนงานในกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) เพื่อเสนอขอรับงบประมาณในปี 2567 รวมทั้งให้เร่งศึกษาภาพรวมการระบายน้ำพื้นที่ กทม. ฝั่งตะวันออกให้เชื่อมโยงสอดคล้องกับแผนงาน/โครงการของหน่วยงานอื่น เช่น โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างของกรมชลประทาน และแผนงานระบบระบายน้ำของเทศบาลตำบลสำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ เพื่อให้การระบบระบายน้ำมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกัน เกิดประสิทธิภาพสูงสุด สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างทันท่วงที และให้เร่งรัดการเตรียมความพร้อมเพื่อให้ดำเนินการได้โดยเร็ว

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี โดยให้กรมชลประทานเร่งประสานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เห็นชอบในการขอใช้พื้นที่โดยเร็ว นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) ตามที่ สทนช. เสนอ โดยได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์ให้รองรับสถานการณ์ในอนาคต พร้อมทั้งได้รับฟังความคิดเห็นจากคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ ประชาชนที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดหน่วยงานปฏิบัติพร้อมหน่วยงานสนับสนุน และได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ในระยะถัดไปที่ชัดเจน โดยให้เสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานในปี 2567 มีความต่อเนื่อง ที่ประชุมยังเห็นควรให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ร่างแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี (ปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580) ฉบับนี้ ไปเป็นกรอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการของส่วนราชการ รวมทั้งการกลั่นกรอง พิจารณาคำของบประมาณประจำปีด้วย
7 ตุลาคม 2565