ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เรื่อง  เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น วันนี้ (6 ตุลาคม 2565 เวลา 18.00น.) มีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 (+16.50 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง) เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60. เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900 – 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียง จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.20 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ในช่วงวันที่ 8 – 13 ตุลาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

1.ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10 – 0.15 เมตร

2.บริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15 – 0.30 เมตร

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

1.ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ

2.เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที

3.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่าง ๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทานในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้ ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในเขตจังหวัดชัยนาทและอุทัยธานีให้เตรียมป้องกันระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่

4. ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า