กศน. หนุนลดคาร์บอนต่ำสร้างอาชีพด้วยการปลูกไม้ประจำถิ่น

สำนักงาน กศน. ตระหนักและเห็นความสำคัญของนโยบายรัฐบาล ในเรื่องการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดิน ตลอดจนส่งเสริมการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ราชการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรที่สนใจปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจควบคู่ อีกทั้งยังกําหนดแนวทางด้านการส่งเสริมการตลาดในเรื่องดังกล่าว

เพื่อการร่วมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว สำนักงาน กศน. จึงกำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่ง จัดกิจกรรมฝึกอาชีพ “เพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้” เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความสนใจในการฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรมเกิดกระบวนการเรียนรู้ การเพาะพันธุ์ การปลูก การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ไม้พื้นถิ่นอันเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนมีช่องทางในการประกอบอาชีพจากการเพาะพันธุ์และการปลูกไม้พื้นถิ่น ในห้วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 มีสถานศึกษาในสังกัด จัดกิจกรรมหลักสูตรฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรม ภายใต้โครงการศูนย์ฝึกอาชีพชุมชน จำนวน 813 แห่ง

โดยมีหลักสูตรฝึกอาชีพเพาะพันธุ์กล้าไม้พื้นถิ่นระดับจังหวัด รุ่นที่ 1 ทั้งสิ้น 831 หลักสูตร อาทิเช่น ไผ่ตรงลืมแล้ง ส้มโอทับทิบสยาม เห็ดฟางในตะกร้า ไผ่ซางนวล มะขามเทศเพชรโนนไทย บอนสี มะค่าโมง จำปาดะมังกรทอง และทองอุไร เป็นต้น

ทั้งนี้มีประชาชนที่ผ่านการฝึกอาชีพดังกล่าว ทั้งหมด 18,398 คน และมีความพึงพอใจ ระดับมากที่สุด ถึง 58.53 % กิจกรรมฝึกอาชีพ “เพาะพันธุ์ไม้พื้นถิ่น สร้างอาชีพ สร้างรายได้” จึงนับได้ว่า นอกจากเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้พื้นถิ่น เพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนการลดคาร์บอนในอากาศแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการฝึกอาชีพด้านเกษตรกรรม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับประชาชน อีกด้วย