“ธนาคารเวลา” เพื่อสูงวัย นวัตกรรมใหม่ของสังคม

เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว เพราะมีผู้สูงอายุเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมดของประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์เช่นนี้ทำให้ทั้งภาครัฐ สังคม ชุมชน และครอบครัว ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัย : นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย จะช่วยพลิก “วิกฤติ” เป็น “โอกาส” แก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นในชุมชน

“ธนาคารเวลามุ่งเน้นทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งสมาชิกของธนาคารเวลาจะเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับความช่วยเหลือในคน ๆ เดียวกัน” เป็นความเห็นของ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  

นางภรณี อธิบายว่า แนวคิดเรื่องธนาคารเวลามีต้นแบบมาจากต่างประเทศ เป็นนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยสังคมไทยในการรองรับสังคมสูงวัย ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยได้ โดยเฉพาะการที่เรามีจุดแข็งอยู่ที่รูปแบบชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ดังนั้นในช่วงเริ่มต้นจึงเป็นไปในลักษณะของเพื่อนบ้านช่วยเพื่อนบ้าน เน้นทำกับคนรู้จักกันก่อน แล้วจึงค่อยขยายออกไปอย่างเป็นระบบเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน

“ธนาคารเวลารองรับสังคมสูงวัยนี้ ถือเป็นถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย ที่จะช่วยดูแลแก้ปัญหาให้กับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือต้องการผู้ดูแล สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ และสร้างความเท่าเทียมในสังคมได้” นางภรณี กล่าว

ด้าน นางปิติพร จันทรทัต ณ อยุธยา ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนและพัฒนารูปแบบการดำเนินงานธนาคารเวลาชุมชนรองรับสังคมสูงวัย เล่าให้ฟังว่า ธนาคารเวลา คือ การสะสมเวลาในรูปแบบของบัญชีส่วนบุคคล โดยสามารถเบิกถอนเวลามาใช้ได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชน หรือผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันดูแลซึ่งกันและกัน ด้วยการแลกเปลี่ยนทักษะ ประสบการณ์ หรือความสามารถในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เป็นสมาชิกธนาคารเวลา เช่น ขับรถพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล พาไปธนาคาร พาไปซื้อของ พาไปทำบุญ ซักผ้า ล้างจาน ซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ซ่อมประปา ตัดต้นไม้ กวาดถูบ้าน ดูแลสัตว์เลี้ยง ตัดผม ป้อนข้าวผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น โดยมีผลตอบแทนเป็นเวลาที่เท่ากัน คือ 1 ชั่วโมงเท่ากับ 1 หน่วยเวลา ที่จะถูกบันทึกลงในสมุดบัญชีธนาคารเวลา ซึ่งสมาชิกสามารถเบิกเวลาที่คงเหลืออยู่มาใช้ได้ เมื่อยามจำเป็นที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ

“การออมเวลาสำคัญไม่น้อยไปกว่าการออมเงิน เพราะจะทำให้ทุกคนรู้จักคุณค่า ทักษะ และความสามารถของตัวเอง ธนาคารเวลาจะเป็นหลักประกันว่าเราจะไม่ถูกทอดทิ้ง และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นางปิติพร กล่าว

ขณะที่ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เล่าว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะเกิดน้อย แต่อายุยืนมากขึ้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ขณะที่คนรุ่นใหม่แนวโน้มมีลูกลดลง สถานการณ์เช่นนี้ในอนาคตอาจเกิดปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม แนวคิดธนาคารเวลาช่วยสร้างสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดี 7 ข้อ

  1. พึ่งพาอาศัยกันยามวิกฤติ
  2. มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือสังคม
  3. ดูแลซึ่งกันและกัน
  4. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไปมาหาสู่
  5. ทำกิจกรรมร่วมกัน
  6. เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
  7. รู้จักกัน

ดร.นณริฏ บอกว่า โดยหลักการของธนาคารเวลาแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพของเศรษฐกิจแบบใด ธนาคารเวลายังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ เพราะแม้ธนาคารจะไม่สามารถเพิ่มรายได้ แต่ก็สามารถช่วยลดรายจ่ายของสมาชิกได้ บนฐานของการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืน

ด้าน ชนิสรา ละอองดี ตัวแทนจากธนาคารเวลาสำหรับทุกกลุ่มวัยภาษีเจริญ เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนคนในชุมชนจะต่างคนต่างอยู่ ไม่ค่อยได้ขอความช่วยเหลืออะไรกันมาก ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนจะใช้ชีวิตลำบากมาก แต่พอมีการทำโครงการธนาคารเวลาขึ้นมา คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้น เพราะมีการช่วยเหลือเกื้อกูลของคนในชุมชนมากขึ้น มีอะไรก็พูดคุยกัน ที่สำคัญยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย เช่น ถ้าอยากจะตัดผมเราก็แจ้งขอสมาชิก 1 คนที่ตัดผมเป็น พอเสร็จเราก็ไม่ต้องจ่ายเป็นเงิน แต่ให้เครดิตเวลากับคนที่มาช่วยตัดผมไป 1 ชั่วโมง เป็นต้น

ธนาคารเวลาเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่เชื่อว่าหลักการและแนวคิดของการพัฒนานี้ จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งกับสังคมไทยในอนาคต สสส. ขอส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน สู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพต่อไป

ที่มา www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก เวทีเสวนา รู้จัก เข้าใจ ธนาคารเวลา นวัตกรรมใหม่ของสังคมไทย