กรมส่งเสริมการเกษตร ห่วงใยเกษตรกรจากผลกระทบโนรู พร้อมช่วยทุกพื้นที่

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร กำชับกรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมความพร้อมรับมือช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ให้ทันเวลา ตามความต้องการของเกษตรกร และความเหมาะสมของพื้นที่เกษตร ซึ่งจากสถานการณ์พายุดีเปรสชันโนรู ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งได้พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทย จึงยังส่งผลให้มีฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม เกิดน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากได้ ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 กันยายน 2565) พื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบ มีจำนวน 41 จังหวัด ทุกภูมิภาค เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 112,388 ราย มีพื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหายจำนวน 736,818 ไร่ แยกเป็นข้าว 666,839.50 ไร่ พืชไร่ละพืชผัก 65,119.75 ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,858.75 ไร่

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมความพร้อมรับมือเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวล่วงหน้า ทั้งการสั่งผลิตต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ โดยเฉพาะพืชผักสวนครัว อาทิ พริก มะเขือเปราะ มะเขือเทศ มะเขือยาว มะเขือพวง กะเพรา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว และไม้ผล เป็นต้น ไม้ยืนต้นเศรษฐกิจ อาทิ กล้วยน้ำว้า มะละกอ ทุเรียน กาแฟ เป็นต้น เพื่อให้เกษตรนำไปทดแทนต้นพันธุ์ที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เบาบางลง น้ำลดลงพอสัญจรได้แล้วนั้น เกษตรกรสามารถเข้าไปขอรับพันธุ์พืชคุณภาพดีได้จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชใกล้บ้านท่าน ทั้ง 10 ศูนย์ หรือแจ้งความจำนงค์ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่านได้ทราบ เพื่อจัดหาและรวบรวมนำส่งให้ในภายหลัง ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมต้นพันธุ์ ท่อนพันธุ์ ไว้อย่างเพียงพอกับความต้องการของเกษตรกรแล้ว รวมทั้งเชื้อราไตรโคเดอร์มาที่มีทั้งพร้อมใช้ และหัวเชื้อขยาย เกษตรกรสามารถมาขอรับได้จากสำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ทั้ง 9 ศูนย์ และนำไปใช้งาน เพื่อป้องกันเชื้อราให้กับต้นไม้ที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน และหากไม่มั่นใจกับอาการของต้นพืช สามารถสอบถามปัญหาโรคพืชได้ที่คลินิกพืช ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ/จังหวัดเช่นกัน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ หากเครื่องมือทางการเกษตรได้รับความเสียหาย กรมส่งเสริมการเกษตรซึ่งได้พัฒนาสนับสนุนสร้างช่างเกษตรท้องถิ่น ภายใต้โครงส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรมาตลอดหลายปี จึงมีเกษตรกรช่างฝีมือที่มีความสามารถทั่วประเทศสามารถช่วยเหลือในเบื้องต้นให้กับพี่น้องเกษตรกรได้

สำหรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านพืช ยังคงเป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 ทั้งนี้ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร และปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย มีพื้นที่เสียหายจริง อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ และช่วยเหลือไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่ โดยมีอัตราดังนี้ ข้าว 1,340 บาทต่อไร่ พืชไร่ละพืชผัก 1,980 บาทต่อไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ 4,048 บาทต่อไร่ โดยเรื่องการขอรับความช่วยเหลือนั้น มีระเบียบขั้นตอนอธิบายพอสังเขปได้ดังนี้ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว เกษตรกรยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/อบต. หรือนายกเทศมนตรีตรวจสอบและรับรอง ตามสถานที่ที่กำหนด คณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบ และรับรองความเสียหายนำรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไปติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.อ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท) หากไม่เพียงพอ ให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเสนอคณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความช่วยเหลือ (วงเงินในอำนาจ 20 ล้านบาท) หรือหากไม่เพียงพอให้คณะกรรมการ ก.ช.ภ.จ. พิจารณาให้ความเห็นชอบใช้เงินทดรองราชการ ในอำนาจปลัด กษ. (วงเงินในอำนาจ 50 ล้านบาท)

 

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ในทุกพื้นที่เข้าให้ความรู้ด้านการดูแลต้นพืช และพื้นที่เกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมภายหลังน้ำลด ซึ่งการดูแล บำรุง และรักษาตามชนิดพืช ตามความเหมาะสมของพื้นที่ได้อย่างถูกวิธีจะช่วยทำให้ต้นพืชได้รับการฟื้นฟูเร็วขึ้น และส่งผลดีต่อการผลิตในรอบถัดไป