สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 1 ต.ค. 65

+ ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้
+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา จ.สุโขทัย (119 มม.) จ.ลำปาง (116 มม.) และจ.เพชรบูรณ์ (115 มม.)

เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ดังนี้
1. ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี และเพชรบูรณ์
2. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
3. ภาคกลาง จ.สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
4. ภาคตะวันออก จ.นครนายก สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด
5. ภาคใต้ จ.ระนอง พังงา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และนราธิวาส

เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง

บริเวณแม่น้ำสายหลักและ ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำสาย แม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย แม่น้ำเลย แม่น้ำชี ลำน้ำเชิญ ลำน้ำพรม ลำน้ำพอง แม่น้ำมูล แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำตราด

+ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

+ ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 60,902 ลบ.ม. (74%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 53,198 ล้าน ลบ.ม. (74%)

เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด 19 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล แม่มอก บึงบอระเพ็ด ทับเสลา กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล และนฤบดินทรจินดา

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2565 เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา 
จากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “โนรู”(NORU) ในช่วงวันที่ 28- 30 ก.ย. 65 เกิดฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีน้ำท่าหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก ปริมาณมากขึ้น กอนช.คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,600- 2,700 ลบ.ม./วินาที แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา โดยกรมชลประทานได้พิจารณารับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกเต็มศักยภาพคลองที่สามารถรองรับน้ำได้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรา 2,600- 2,700 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 1 – 7 ต.ค. 65 ประกอบกับคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 6 ต.ค. 65 ประมาณ 800 ล้าน ลบ.ม ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนมีแนวโน้มเกินความจุที่ระดับเก็บกักสูงสุด จึงจำเป็นต้องทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันได ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 65 และจะควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหก ในอัตราไม่เกิน 800ลบ.ม./วินาที จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้

1. แม่น้ำป่าสัก บริเวณริมแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่เขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมประมาณ 1.20 – 1.50 ม. และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.25 – 0.50 ม.

2. แม่น้ำเจ้าพระยา ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 –0.60 ม. บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อ.อินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จ.สิงห์บุรี อ.ป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล อ.เสนา และผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจ.สมุทรปราการ

ในการนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ ทั้งนี้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ และช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน