กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 30 กันยายน2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 44/2565 ลงวันที่ 28 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง จากคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าพายุไต้ฝุ่น “โนรู” จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างบริเวณจังหวัดอำนาจเจริญและอุบลราชธานีในคืนวันที่ 28 กันยายน 2565

ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักและมีฝนตกหนักมากหลายพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยอิทธิพลของพายุจะส่งผลให้มีปริมาณฝนตกต่อเนื่องสะสม 150 – 250 มิลลิเมตร ประกอบกับปัจจุบันในลำน้ำและแหล่งน้ำมีปริมาณน้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากน้ำท่วมฉับพลัน

จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติม ในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 4 ตุลาคม 2565 จากประกาศฉบับที่ 41/2565 ได้แก่ ภาคเหนือ บริเวณจังหวัดลำปาง ตาก เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดอุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร ภาคกลาง บริเวณจังหวัดลพบุรี และสระบุรี และภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดปราจีนบุรี

1.2 ประกาศศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 4/2565 ลงวันที่ 29 กันยายน 2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำท่วมพื้นลุ่มต่ำ จังหวัดอุบลราชธานี

จากการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำมูลบริเวณสถานีตรวจวัดน้ำ M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ปริมาณน้ำไหลผ่าน 3,737 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำ +114.21 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง สูงกว่าระดับตลิ่ง2.21 เมตร ปัจจุบันเกิดสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งนอกแนวคันกั้นน้ำบริเวณแนวฟันหลอและหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในอำเภอวารินชำราบ และอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีตอนล่างและแม่น้ำมูลตอนกลางไหลมาสมทบแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

จากการคาดการณ์ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ระดับน้ำบริเวณสถานี M.7 มีระดับน้ำ +115.34 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งที่หลากเข้าท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ อำเภอวารินชำราบ (ตำบลหนองกินเพล บุ่งไหม และคำน้ำแซบ) อำเภอเมืองอุบลราชธานี (ตำบลกุดลาด หนองบ่อ แจระแม ในเมือง และปทุม) และอำเภอเขื่องใน (ตำบลชีทวน) ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยระดับน้ำสูงมากกว่า 2.00 เมตร

2. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกําลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทําใหประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคเหนือ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ รวม 27 จังหวัด

ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร และเพชรบูรณ์

ภาคกลาง จังหวัดลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครปฐม

ภาคตะวันออก จังหวัดปราจีนบุรี

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ และสุรินทร์