“ตรีนุช”กดปุ่ม Kick-off สร้างนวัตกรรมพัฒนาชุมชน

วันที่ 28 ก.ย.2565 ที่โรงเรียนวังสมบูรณ์วิทยาคม จังหวัดสระแก้ว นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน Kick – off การสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการสร้างรายได้ และ อาชีพให้กับนักเรียนและชุมชน 3 ตำบล 48 หมู่บ้าน ของอำเภอวังสมบูรณ์ (อำเภอต้นแบบ) จังหวัดสระแก้ว

พร้อมมอบโล่รางวัลด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจังหวัด สระแก้วยอดเยี่ยมแก่เครือข่ายและผู้สนับสนุนโครงการฯ จำนวน 22 คน พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำนวน 223 คน

โดยมีนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายธันยวิช วิเชียรพันธ์ ผู้แทนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางกการศึกษา นางสาวปวีณา จันทร์สุข ประธานมูลนิธิเพื่อทักษะแห่งอนาคต ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประชาชนในพื้นที่ และบุคลากรทางการศึกษา ร่วมงาน

นางสาวตรีนุช กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดียิ่งที่ได้มาเป็นประธานในการจัดงาน Kick – off การสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการสร้างรายได้และอาชีพให้กับนักเรียนและชุมชน 3 ตำบล 48 หมู่บ้าน ของอำเภอวังสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอำเภอต้นแบบในการดำเนินโครงการของจังหวัดสระแก้วในครั้งนี้

รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตระหนักในเป้าหมายของการพัฒนาบุคลากรของชาติ ในการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการเข้าถึงระบบการศึกษาตลอดทุกช่วงวัย และการสร้างคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งจังหวัดสระแก้ว เป็นจังหวัดที่มีสภาพแวดล้อมและความพร้อมในการสร้างนวัตกรรม เพื่อพัฒนาชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตร

ศธ.จึงได้จัดทำโครงการ SAKAEO Model ขึ้นมา โดยมีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ร่วมสนับสนุนด้านการศึกษาเป็นอย่างดีมาโดยตลอด รวมถึงการร่วมกันยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ด้วยการจัดการเรียนรู้รูปแบบ Active Learning ภายใต้โครงการ SAKAEO Model โดยพัฒนาศึกษานิเทศก์ ครูและนักเรียนจนนำไปสู่การเกิดนวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม มีนวัตกรรมธนาคารใบไม้ เครื่องบดปั่นใบไม้ด้วยระบบเทคโนโลยี เครื่องผสมปุ๋ย ฯลฯ สร้างรายได้ และอาชีพจากการขายผลผลิตสู่เครือข่ายคนรักป่าและชุมชน ซึ่งผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม สามารถพบเห็นได้ในการจัดงานในวันนี้

“ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการเชื่อมโยงวิชาต่าง ๆ ที่เด็กได้เรียนมาให้เด็กได้คิด เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง สามารถจับต้องได้ และเด็กได้คิดว่าจะนำความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดไปทำอะไรได้บ้าง โดยจะมีการขยายผล SAKAEO Model ให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนก่อนจะขยายผลไปทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทแตกต่างกัน

ทั้งนี้ ทุกพื้นที่ในประเทศ มีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ รอบตัว ที่สามารถนำมาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าได้ทั้งสิ้น ดิฉันขอฝากผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา คุณครูทุกท่าน ให้ร่วมกันขยายผล ยกระดับคุณภาพทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้รูปแบบ Active Learning ให้เติบโต และกว้างขวางมากขึ้น ”นางสาวตรีนุช กล่าว.