คัด 11 นักสื่อสารวิทย์ฯ โดดเด่น เข้าสู่รอบ Final “FameLab Thailand 2022”

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตัดสินคัดเลือก 11 นักสื่อสารวิทย์ฯ เข้ารอบสุดท้ายของ FameLab Thailand 2022

 ดร.กรรณิการ์ เฉิน  รองผู้อำนวยการองศ์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “โครงการแข่งขัน “FameLab Thailand 2022” ถือเป็นการผนึกกำลังกับหลายภาคส่วนโดยจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 เพื่อเปิดเวทีเฟ้นหานักสื่อสารวิทยาศาสตร์ มาแข่งขันสื่อสารวิทยาศาสตร์ ภายใน 3 นาที และมุ่งเน้นการสื่อสารที่ทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเข้าใจง่ายผ่านการถ่ายทอดนำเสนองานวิจัยที่น่าสนใจ  โดยมีนิสิต นักศึกษา และผู้เชี่ยวชาญที่มีความเกี่ยวข้องผ่านเข้ารอบ Semi-Final Competition ประเภทภาษาไทย 10 คน และประเภทภาษาอังกฤษ 10 คน

โดยคณะกรรมการได้คัดเลือก 11 คนที่สื่อสารได้โดดเด่นเข้าสู่รอบ Final ต่อไป ซึ่งหวังว่ากิจกรรมนี้จะสามารถสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคม และพร้อมจะสร้างบุคลากรด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อที่จะได้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยและระดับนานาชาติต่อไป”

เผยรายชื่อผู้เข้ารอบการแข่งขัน 11 คนสุดท้าย ที่สามารถสื่อสารวิทยาศาสตร์ได้น่าสนใจภายใน 3 นาที ได้แก่

ประเภทภาษาไทย

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายชานนท์ สมจิตรกุล ในหัวข้อ “พัฒนาไคโตซาน คอลลาเจน ไฮโดรเจลที่ไวต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและมีคุณสมบัติต้านแบคทีเรียโดยใช้อนุภาคนาโนเงินที่สังเคราะห์ขึ้นจากสารสกัดน้ำกระชายเหลือง เพื่อการปลูกถ่ายกระดูก”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่      นางสาววิลาสินี คุปต์นิรัติศัยกุล ในหัวข้อ อยากกินตามใจ “ไส้”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่      นางสาวพิชญุตม์ ธนัญชยะกุล ในหัวข้อ “การวิจัยและพัฒนาโซลาร์เซลล์”

รางวัลชมเชย ได้แก่ นายธนกฤต ศรีวิลาศ ในหัวข้อ “ข้อมูลดิจิทัลกำลังจะอัปโหลดเข้าสารพันธุกรรม”

รางวัลชมเชย ได้แก่ นายณัฐพล คงสิบ ในหัวข้อ “เปลี่ยนความร้อนจากร่างกายเป็นไฟฟ้า”

ประเภทภาษาอังกฤษ

รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวปาณิสรา หมวดสง ในหัวข้อ “Nano-drug delivery: It’s not just about riding a great car, but a car that brings you to your destination.”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายนุติ หุตะสิงห ในหัวข้อ “เทคนิคการลดประมาณไขมันในอาหารทอดด้วยไฮโดรคอลลอยด์”

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นายปริญญ์ ไชยกิจ ในหัวข้อ “Dementia”

รางวัลชมเชย ได้แก่ อัครพันธ์ ทวีศักดิ์ ในหัวข้อ “Recycled Steel Fiber for Concrete Reinforcement”

รางวัลชมเชย ได้แก่ นางสาวจรรยพร โกฏิมนัสวนิชย์ ในหัวข้อ “WATCH•YOUR•HEART”

รางวัลชมเชย ได้แก่ นายธรรมฤทธิ์ ลิขิตธีรเมธ ในหัวข้อ “Caching: the strategy that optimises websites and improves your life”

สามารถติดตามผลงานของผู้เข้ารอบทั้ง 11 คนได้ทาง Facebook : NSM Thailand โดยทั้ง 11 คน ที่ผ่านเข้ารอบจะได้เข้าร่วม Masterclass Training การอบรมเทคนิคการสื่อสารวิทยาศาสตร์โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญการสื่อสารวิทยาศาสตร์จากสหราชอาณาจักร เพื่อเตรียมความพร้อมพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ก่อนการแข่งรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในรอบ Final Competition ในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 นี้

ซึ่งในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น เพื่อค้นหาผู้ชนะเลิศเพื่อเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ระดับโลก Cheltenham Science Festival ณ สหราชอาณาจักร ต่อไป