1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2565 ลงวันที่ 24 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27 – 28 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565
และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 43 จังหวัด 148 อำเภอ
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 42/2565 ลงวันที่ 26 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง พบว่าพายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” บริเวณทะเลจีนใต้ตนกลาง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 28 กันยายน 2565
และจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางของประเทศไทยในวันที่ 29 กันยายน 2565 ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565
2. ผลการดำเนินงาน
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ระดมกำลังศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ รับมือพายุโซนร้อน “โนรู” คาดเคลื่อนตัวเข้าสู่ไทยทางภาคอีสาน 28 ก.ย. 65 พร้อมเร่งจัดเวทีชี้แจงการใช้ 10 ทุ่งรับน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง โดยได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์เพื่อรับมือและพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนตัวของพายุ “โนรู” (NORU) อย่างใกล้ชิด
ปัจจุบันพายุโนรูกำลังเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกสู่ทะเลจีนใต้ อาจจะทวีกำลังแรงขึ้นได้อีก คาดว่าจะเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนามในช่วงวันที่ 27-28 ก.ย.นี้ และมีโอกาสเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในวันที่ 28 ก.ย. 65 ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน
3. สถานการณ์น้ำท่วม
ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่าง วันที่ 4 – 26 ก.ย. 65 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 23 จังหวัด
ภาคเหนือ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และเพชรบูรณ์
ภาคกลาง จังหวัดปราจีนบุรี ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครปฐม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ และสุรินทร์