กรมชลประทาน ร่วมลงนามความร่วมมืองานก่อสร้างฯโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา

วันที่26 กันยายน 2565 เวลา 13.00 น. นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน เป็นประธานการลงนามความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา ร่วมกับคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) และผู้รับจ้าง บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด

พร้อมทั้ง นายไพฑูรย์ ไชยภูมิสกุล ผู้อำนวยการกองพัสดุ นายวิวัธน์ชัย คงลำธาร ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 2 และผู้เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามในครั้งนี้ ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ ชั้น 4 อาคารที่ทำการฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพฯ

นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง กรมชลประทาน เปิดเผยว่าโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่จะนำประโยชน์มาสู่ราษฎรอำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดทำข้อตกลงคุณธรรม โดยจะมีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ซึ่งในการดำเนินการได้รับความร่วมมือและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ทั้งนี้ รองอธิบดีฝ่ายก่อสร้าง ได้เน้นย้ำให้บริษัทเร่งดำเนินการโครงการฯ ตามระเบียบ เงื่อนไข และกฎเกณฑ์ในสัญญาด้วยความรอบคอบ เพื่อให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์แล้วเสร็จตามกำหนดเวลา และเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯ โดยเร็วที่สุด

สำหรับงานจ้างก่อสร้างเขื่อนหัวงานและอาคารประกอบ พร้อมส่วนประกอบอื่น โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นโครงการสำคัญในการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำในฤดูฝน อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลเชียงม่วน ตำบลบ้านมาง และตำบลสระ อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยา

ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 28,000 ไร่ จำนวน 34 หมู่บ้าน 4,868 ครัวเรือน และในฤดูแล้งจะสามารถส่งน้ำให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม (ฝายแม่ยม) จังหวัดแพร่ เพิ่มเติมอีก จำนวน 35,000 ไร่ จำนวน 1,500 ครัวเรือน รวมถึงการส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม เป็นจำนวน 34 หมู่บ้าน 4,868 ครัวเรือน สามารถส่งน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศน์ เป็นแหล่งประมงสำหรับเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดให้ราษฎรได้บริโภคและเป็นรายได้เสริม ตลอดจนเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและส่งเสริมการท่องเที่ยว รวมถึงนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำอีกด้วย