ส.ป.ก. ทำ MOU เตรียมพร้อมสู่มาตรฐาน GAP

รวมพลัง 6 หน่วยงาน ส.ป.ก., มกอช., มก., บริษัท ฟาร์ม แชนแนล (ประเทศไทย) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และ AIS เซ็น MOU การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรตามมาตรฐานสากล การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดิน GAP พัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ การผลิต การตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

และการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง GAP ในเขตปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาช่องทางการตลาดผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน การพัฒนาช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินผ่านระบบออนไลน์ และ สนับสนุนช่องทางตลาดออนไลน์ ผ่านโครงการ V – Avenue Co power AIS 5G

26 กันยายน 2565 ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) บริษัท ฟาร์ม แชนแนล ประเทศไทย จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) ลงนามความร่วมมือพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินสู่ความยั่งยืน ณ โรงแรมตรัง กรุงเทพ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

โดยในการลงนามครั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานเกษตรปลอดภัยและการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน โดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (ศรม.) เพื่อเป็นหน่วยงานรับรอง (Certification Body : CB) ในขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) สำหรับ พืชอาหาร อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเมล็ดแห้ง สับปะรด และข้าว

ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ให้แก่เกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน เพื่อยกระดับการผลิต และคุณภาพผลผลิตของเกษตรกรให้มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน การพัฒนาต่อยอดเข้าสู่การบริการที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง เป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อตรวจรับรอง ตอบสนองและให้บริการด้านการตรวจรับรอง เพราะปัจจุบันภาคการเกษตรยังคงต้องการผลิตผลที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพราะประเทศไทยยังเป็นแหล่งผลิตส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ และเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป

เพื่อให้ภารกิจบรรลุเป้าหมาย ศรม.จึงต้องสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมในการยกระดับพัฒนาการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินในระดับพื้นที่ เพื่อให้บริการเกษตรกรผู้ยื่นขอการรับรอง โดยส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่มีความสนใจ ได้เรียนรู้และร่วมพัฒนาองค์ความรู้และเครื่องมือเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมระดับสูง ในการยกระดับคุณภาพในการตรวจประเมิน