1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2565 ลงวันที่ 22 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,100 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีและการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565
โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอก คันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ
1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2565 ลงวันที่ 24 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27 – 28 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565
และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 43 จังหวัด 148 อำเภอ
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
วันที่ 25 ก.ย. 65 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประชุมตรวจราชการ ณ ห้องประชุมเมืองราด ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ อาคาร 2 อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลพื้นฐานสภาพทั่วไป ผลการดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล และนโยบายของจังหวัด ข้อมูลสถานการณ์น้ำ ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ที่ผ่านมา และปัญหาสำคัญอื่น ๆ พร้อมทั้งมอบนโยบายและข้อสั่งการให้กับหัวหน้าส่วนราชการของจังหวัดเพชรบูรณ์และติดตามสถานการณ์อุทกภัยและแนวทางแก้ไขปัญหาของเทศบาลเมืองหล่มสักและเทศบาลตำบลตาลเดี่ยว ณ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
3. สถานการณ์น้ำท่วม
ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่าง วันที่ 4 – 26 ก.ย. 65 ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 27 จังหวัด
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย ตาก และเพชรบูรณ์
ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี และชัยนาท
ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง และปราจีนบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น เลย ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์