กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 25 กันยายน 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2565 ลงวันที่ 22 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 2,100 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565

โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

1.2 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 41/2565 ลงวันที่ 24 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ได้ติดตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุดีเปรสชันบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน “โนรู (NORU)” คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 27 – 28 กันยายน 2565 ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมแรงในช่วงวันที่ 27 – 29 กันยายน 2565

และ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2565 จำนวน 43 จังหวัด 148 อำเภอ

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2565 กระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ้านหินกอง หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม มีแนวโน้มของปริมาณฝนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในหลายพื้นที่ รวมทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น

จึงได้สั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการสำรวจตรวจสอบสภาพพื้นที่ตลิ่งริมแม่น้ำทั่วประเทศ ที่ถูกกัดเซาะพังทลาย และอาจจะเป็นอันตรายต่อประชาชน เพื่อเป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมและจัดทำแผนงาน โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเพื่อป้องกันปัญหาการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำและลดการสูญเสียทรัพย์สินของประชาชน ศาสนสถาน และสถานที่ต่อไป

3. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่าง วันที่ 4 – 25 ก.ย. 65

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 19 จังหวัด

ภาคเหนือ จังหวัดตาก

ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดชัยภูมิ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ