กระทรวง พม. เผย “มติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ” ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน 2565 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดการประชุมสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2565 ในรูปแบบ Online และ On Site โดย ภายในงานมีการเสวนาหัวข้อ “กัญชาเสรี : ผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน พลิกวิกฤต หรือ เพิ่มปัญหา” และการอภิปรายแนวทางนโยบายสำหรับสมัชชาฯ และรับรองข้อเสนอโดยร่วมกันลงมติเพื่อนำเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งในปี 2565 นี้ มีมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ดังนี้

ข้อ 1 เร่งรัดให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ บูรณาการออกแบบและสนับสนุนกิจกรรมในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างเหมาะสม ตลอดจนสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรม และตั้งกองทุนที่สอดคล้องกับการสนับสนุนด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่

ข้อ 2 เสนอให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ เอกชน บูรณาการสนับสนุนและส่งเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ให้ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง และแนะนำด้านการทำตลาดเพื่อส่งออก โดยมีการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา

ข้อ 3 เสนอให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการจัดตั้งคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมในมนุษย์ เพื่อศึกษาถึงผลกระทบจากการใช้กัญชาในเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมการจดสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจากการคิดค้นโดยเด็กและเยาวชน

ข้อ 4 เสนอให้หน่วยงานดังต่อไปนี้ กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการจัดทำแผนรับมือความเสี่ยงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้กัญชาในเด็กเยาวชน เพื่อสร้างความพร้อมให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รับมือกับการรักษาในกรณีฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นในเด็กและเยาวชน

ข้อ 5 เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณายกเลิก การใช้กัญชาโดยเสรี และให้ใช้กัญชาเพื่อทางการแพทย์เท่านั้น

ข้อ 6 ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกาลเฉพาะ ขอให้มีมาตรการควบคุม ดังนี้

6.1 ห้ามผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อ ขาย แจก ครอบครอง และใช้กัญชา

6.2 ห้ามโฆษณา เชิญชวน จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย สร้างความเข้าใจที่ไม่เหมาะสม หรือนําเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ

6.3 ให้สถานศึกษาทุกระดับเพิ่มความเข้มงวดกับนักเรียน และกำหนดมาตรการด้านการป้องกันที่เหมาะสมและสอดคล้องกับระเบียบของทางกระทรวงศึกษาธิการ

ข้อ 7 เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เร่งสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชน และประชาชนทั่วไป ให้ปลอดภัยจากผลกระทบของกัญชา โดยการใช้สื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประโยชน์โทษที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ให้สถานศึกษาทุกระดับให้ความรู้เกี่ยวกับกัญชาเพิ่มเติม