“ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด”

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง ที่ สคร. กำกับดูแลโดยตรง ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 236,023 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 97ของแผนการเบิกจ่ายสะสม

ประกอบด้วย การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – เดือนสิงหาคม 2565) 34 แห่ง จำนวน 94,887 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 90ของแผนเบิกจ่ายสะสม และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 – เดือนสิงหาคม 2565) 9 แห่ง จำนวน 141,136 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของแผนเบิกจ่ายสะสม

ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2565

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 โครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการสามารถเบิกจ่ายเป็นไปตามแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม – มีนบุรีของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย โครงการก่อสร้างรถไฟ สายเด่นชัย – เชียงราย -เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังไฟฟ้า ฉบับที่ 12 ปี 2560 – 2564 ของการไฟฟ้านครหลวงและแผนระยะยาวธุรกิจก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

อย่างไรก็ดี มีบางโครงการที่ยังคงประสบปัญหา เช่น โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554 – 2560)ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลัก ครั้งที่ 9ของการประปานครหลวง ทำให้ผลการเบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผน

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวสรุปว่า ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2565 ภาพรวมของรัฐวิสาหกิจยังคงต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ สคร. ได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณามาตรการเร่งรัดเบิกจ่ายเงินปีงบประมาณ 2566ในประเด็นต่างๆ

เช่น ให้รัฐวิสาหกิจเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินอนุมัติ และกำหนดให้เป็นตัวชี้วัดของผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ และในกรณีที่จะมีการปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี 2566 ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 รวมทั้งขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ปรับกระบวนการในการพิจารณาหรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย