กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 23 กันยายน2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 40/2565 ลงวันที่ 22 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2)อยู่ในเกณฑ์ 2,100 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลำน้ำสาขาอัตรา 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 2,200 – 2,300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ในช่วงวันที่ 25 – 27 กันยายน 2565

โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ0.30 – 0.50 เมตร บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ

ซึ่งได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ ระบบชลประทาน เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ขอให้บริหารจัดการน้ำโดยใช้ระบบชลประทานในการนำเข้าคลองต่างๆ ทั้งด้านฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพคลองชลประทาน ในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถรองรับได้

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565

วันที่ 22 ก.ย. 65 นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ขึ้นเฮลิคอร์ปเตอร์ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สำรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำต่างๆ ได้แก่ ทุ่งพระพิมล ทุ่งพระยาบรรลือ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งผักไห่ ทุ่งป่าโมก ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก และทุ่งเชียงราก

ซึ่งจากการสำรวจสภาพน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน สภาพน้ำในทุ่งและพื้นที่การเพาะปลูก พบว่าการระบายน้ำในจุดต่างๆ สามารถระบายน้ำได้ดี ขณะที่ทุ่งต่างๆในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเริ่มมีน้ำบ้างแล้วจากปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ซึ่งพื้นที่เกษตรโดยส่วนใหญ่เกษตรกรได้ทำการเก็บเกี่ยวเกือบหมดแล้ว

สอดคล้องกับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมพื้นที่น้ำท่วม และสภาพการเพาะปลูกของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) และได้มอบโยบายให้ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคกลาง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และให้เร่งใช้กลไกศูนย์ฯส่วนหน้าบูรณาหน่วยงานในการทำการมีส่วนร่วมประเด็นการรับน้ำเข้าทุ่งให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อทันใช้งานช่วงฤดูน้ำหลากนี้

3. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่างวันที่ 4 – 21 ก.ย. 65

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 21 จังหวัด

ภาคเหนือ จังหวัดตาก

ภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดหนองบัวลำภู ชัยภูมิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ และศรีสะเกษ

ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี