“สวรส.จับมือเครือข่ายวิจัย-ผู้ใช้ประโยชน์ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล ด้วยแอปพลิเคชัน ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ลดเสียชีวิต เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี”

ปัจจุบันกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCD ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับหนึ่งของโลก จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรทั่วโลก มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรค NCD เพิ่มขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2555 จาก 38 ล้านคน เป็น 41 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2561 โรค NCD เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึงร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยมีจำนวนมากถึง 320,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ย 37 คนต่อชั่วโมง

ซึ่งโรคที่พบมากสุดคือ โรคหลอดเลือดสมอง รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้น โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วย NCD เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ทั้งนี้การเดินทางที่ไม่สะดวกและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อาจเป็นอุปสรรคด่านแรกๆ ที่ทำให้ผู้ป่วย NCD ตกหล่นหรือหายไประหว่างทางของการรักษา ดังนั้นเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลจึงเข้ามาตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าว โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เครือข่ายที่มีศักยภาพทั้งด้านวิชาการ และด้านการให้บริการทางการแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เครือข่ายด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่

ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11 โรงพยาบาลสิชล และโรงพยาบาลเกาะสมุย ร่วมลงนามความร่วมมือ “การพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล (telehealth) เพื่อดูแลผู้ป่วยในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน” โดยมีเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยทำให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างสะดวก ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

โดยมี ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย ผู้แทนผู้อำนวยการ สวรส. ดร.กิตติ วงศ์ถวาราวัฒน์ ผู้แทนผู้อำนวยการ สวทช. คุณพนิต มโนการ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 11 นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล นพ.รัตนพล ล้อประเสริฐกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกาะสมุย และมี ศ.ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว และ ดร.จุไรรัตน์ พรหมใจ ร่วมเป็นสักขีพยาน เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2565 ณ ห้องประชุมหัวตะพาน โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า งานวิจัยที่มีแนวโน้มของการใช้ประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ ควรเป็นงานวิจัยที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นภาพการพัฒนาระยะยาวร่วมกันตั้งแต่แรก โดยมีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์เป็นสำคัญ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ สวรส. เน้นการสร้างองค์ความรู้และขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์งานวิจัยได้จริง โดยการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล (telehealth) เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และความดันโลหิตสูง อย่างต่อเนื่อง

และมีหน่วยงานในพื้นที่ได้แก่ โรงพยาบาลสิชล และโรงพยาบาลเกาะสมุย พร้อมนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสะท้อนข้อมูลกลับเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบสนองความต้องการ และเกิดประโยชน์กับผู้ป่วยมากที่สุด ทั้งด้านประสิทธิภาพการรักษา ด้านความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และลดความแออัดในโรงพยาบาล ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยแล้ว สวรส. จะวางแผนผลักดันเพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ตลอดจนพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

สำหรับเทคโนโลยีดูแลสุขภาพทางไกล เป็นแอปพลิเคชันแพลตฟอร์มที่เรียกว่า AMED Telehealth ซึ่งเดิมเป็นแพลตฟอร์มในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 แล้วนำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วย NCD เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ซึ่งทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลความต้องการและการดูแลผู้ป่วยในพื้นที่โรงพยาบาลสิชล แล้วนำมาพัฒนาแอปพลิเคชันในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยผู้ป่วยสามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพที่จำเป็นต่อการรักษาต่อเนื่อง เช่น ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับออกซิเจนในเลือด ฯลฯ และบุคลากรทางการแพทย์ สามารถบันทึกข้อมูลการรักษา การสั่งยา และสามารถนัดหมายพบแพทย์แบบวิดีโอคอลทางไกล

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2565 เป็นต้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกล และสนับสนุนนโยบายการนำเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน โดยก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล และทดลองใช้แอปพลิเคชันเบื้องต้น

ซึ่งคาดหวังว่า แอปพลิเคชันดังกล่าว จะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกมากขึ้น สามารถบริหารจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดการเดินทาง ลดความแออัดที่โรงพยาบาล แต่ผู้ป่วยยังได้รับการดูแลสุขภาพที่มีคุณภาพใกล้เคียงเดิมหรือดีกว่าเดิม รวมทั้งจะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลโดยตรงกับ สปสช. เพื่อการเบิกจ่ายค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น