สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงผลการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ 55 หลักสูตร ครอบคลุมข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ 6 กลุ่ม พร้อมเดินหน้ายกระดับระบบการรับรองหลักสูตรและฐานข้อมูลหลักสูตรด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐของประเทศไทย
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเพื่อประชาสัมพันธ์ผลการศึกษาของโครงการบริหารจัดการและติดตามผลการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลของหน่วยงานภาครัฐ ณ โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ว่า
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562 มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รับผิดชอบรับรองกรอบหลักสูตรผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐและผู้ช่วยผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้มอบหมายภารกิจดังกล่าว ให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สดช.ดำเนินการ และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เห็นชอบตามที่เสนอให้กระทรวงดิจิทัลฯ
โดย สดช. รับผิดชอบดำเนินการรับรองหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในข้าราชการและบุคลากรของรัฐ 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้อำนวยการกอง ผู้ทำงานนโยบายและวิชาการ ผู้ทำงานด้านบริการ ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยี และผู้ปฏิบัติงานอื่น ๆ โดยให้เร่งกำหนดมาตรฐานของหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับข้าราชการและบุคลากรของรัฐ กำหนดกลไกการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นที่ยอมรับในสาขาที่เกี่ยวข้อง
และร่วมกับสำนักงาน ก.พ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดฝึกอบรมในหลักสูตรการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลที่ได้รับการรับรองจาก สดช. เป็นลำดับแรก เพื่อให้ข้าราชการและบุคลากรของรัฐได้รับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
“ขณะนี้ประเทศไทยมุ่งปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยให้ความสำคัญต่อ “บุคลากรภาครัฐ” เป็นสิ่งสำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้เกิด “การปรับเปลี่ยนภาครัฐเป็นรัฐบาลดิจิทัล” จึงได้นำเรื่อง “การสร้างและพัฒนาคนภาครัฐ” มาเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ดังจะเห็นได้จากนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติฉบับต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และแผนยุทธศาสตร์อื่น ที่ต่างมุ่งสนับสนุนการพัฒนากำลังแรงงานด้านดิจิทัลด้วยกัน” นายภุชพงค์ฯ กล่าว
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานรับรองหลักสูตรในปัจจุบัน มีผลการตัดสินรับรองหลักสูตรในปี 2565 แล้วทั้งสิ้น 55 หลักสูตร โดยในจำนวนนี้สามารถนำไปจัดการการอบรมได้ 30 หลักสูตร ซึ่งเป็นหลักสูตรครอบคลุมสำหรับข้าราชการและบุคลากรภาครัฐทั้ง 6 กลุ่ม โดยจำแนกตามกลุ่มทักษะด้านดิจิทัลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตาม (ว6/2561) ที่สำนักงาน ก.พ. ได้จัดทำขึ้นนั้น จำแนกหลักสูตรได้ครอบคลุมกลุ่มความสามารถ 7 กลุ่ม
ดังนี้ ความสามารถด้านความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ความสามารถด้านการควบคุมกำกับ และการปฏิบัติตามกฎหมาย นโยบาย และมาตรฐานการจัดการด้านดิจิทัล ความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพองค์กร ความสามารถด้านการออกแบบกระบวนการและการให้บริการด้วยระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาคุณภาพงานภาครัฐ ความสามารถด้านการบริหารกลยุทธ์และการจัดการโครงการ ความสามารถด้านการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และความสามารถด้านผู้นำดิจิทัล ทั้งนี้ สดช. จะได้มีการดำเนินการรับรองหลักสูตรตามเป้าหมายและกรอบเวลาที่กำหนดให้แล้วเสร็จต่อไป
ในส่วนของทักษะด้านดิจิทัลที่มุ่งรับรองหลักสูตรจะมุ่งเน้นการพิจารณาตามกรอบทักษะที่ สำนักงาน กพ. กำหนดไว้ และมีการกำหนดเป็นทักษะเร่งด่วนที่ต้องการการพัฒนาในแต่ละช่วงปีซึ่งจะประกาศผ่านทางเว็บไซต์ https://tacc.onde.go.th เพื่อประชาสัมพันธ์ไว้ สำหรับปีนี้หลักสูตรที่มุ่งเน้น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนโปรแกรม การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูล เป็นต้น
“การสัมมนาในวันนี้เป็นการเผยแพร่ผลการศึกษา การดำเนินงานรับรองหลักสูตร และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมเสนอแนะประสบการณ์และข้อคิดเห็นต่อแนวทางการพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับข้าราชการในอนาคต รวมทั้งการดำเนินการรับรองหลักสูตรของ สดช. ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การดำเนินรับรองหลักสูตร การบริหารจัดการ และการติดตามประเมินผลการรับรองหลักสูตรเพื่อพัฒนาทักษะดิจิทัลมีความครบถ้วนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดย สดช. จะเร่งดำเนินการพัฒนาระบบการรับรองหลักสูตรและฐานข้อมูลหลักสูตรด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเข้ามาสืบค้นและพิจารณาก่อนวางแผนการพัฒนาให้กับข้าราชการและบุคลากร ให้ได้รับการอบรม พัฒนาทักษะ และสมรรถนะดิจิทัลที่เหมาะสม ได้มาตรฐาน และการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้สามารถนำทักษะและสมรรถนะที่ได้รับการพัฒนานั้น ไปใช้ในการปฏิบัติราชการ และการให้บริการแก่ทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน หน่วยงานผู้พัฒนาหลักสูตรและจัดการศึกษา จะสามารถมาขึ้นทะเบียนและขอรับรองหลักสูตรผ่านระบบการรับรองหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิจะสามารถใช้ทำการประเมินและรับรองหลักสูตรได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย” นายภุชพงค์ฯ กล่าว