“วราวุธ” เผย 6 ยุทธศาสตร์ ผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ นำไทยสู่เป้าหมาย Net Zero ในงานสัมมนาแผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน

วันที่ 19 กันยายน 2565 เวลา 15.30 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ขึ้นกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ” ในงานสัมมนา NEW ENERGY : แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพมหานคร โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนผู้บริหารหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ร่วมรับฟัง

นายวราวุธ ได้กล่าวถึง มิติการทำงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย เพื่อบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero GHG Emission) ในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) ด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงิน เทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งหากทุก ประเทศทำได้ จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในช่วงสิ้นศตวรรษที่ 21 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

โดยเผยถึง แนวทางการผลักดันการลดก๊าซเรือนกระจก 6 ด้านของกระทรวงฯ ได้แก่

1) ด้านนโยบาย โดยการบูรณาการด้านยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติ สู่เป้าหมาย Net Zero

2) ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี

3) ด้านการลงทุน โดยร่วมกับ BOI สนับสนุนการลงทุนสีเขียวมากขึ้น

4) ด้านพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) ได้ร่วมกันจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะมีการเปิดตัวแพลตฟอร์มการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ในวันที่ 21 กันยายน 2565 นี้ เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้นำการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

5) ด้านการเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก โดยส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ และป่าเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า

6) ด้านกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ….