กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ขอรายงานสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 19 กันยายน 2565 ดังนี้

1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 39/2565 ลงวันที่ 14 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 17 – 21 กันยายน 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำระยอง แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด

และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก ทับเสลา กระเสียว อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน คลองสียัด บางพระ และหนองปลาไหล รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของหน่วยทหารในการบรรเทาสาธารณภัย และช่วยเหลือประชาชน ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเทศบาลตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยได้เข้ารับฟังการบรรยายสรุปการช่วยเหลือผู้ประสบภัยของกองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และฐานทัพเรือสัตหีบ รวมทั้งหน่วยงานทหารในพื้นที่

สำหรับภัยน้ำท่วมในครั้งนี้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเทศบาลตำบลทับมา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนกว่า 7,300 ครัวเรือน ซึ่งครอบคลุมทุกครัวเรือนในพื้นที่เทศบาลตำบลทับมา อำเภอเมือง จังหวัดระยอง กองทัพเรือ โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยทัพเรือภาคที่ 1 ร่วมกับ กองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และฐานทัพเรือสัตหีบ จึงได้จัดกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้การสนับสนุน ณ ศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเทศบาลตำบลทับมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยได้ให้การสนับสนุนการให้บริการประชาชนผู้ประสบภัย การเคลื่อนย้ายสิ่งของและช่วยเหลือผู้ประสบภัย การประกอบอาหารและการลำเลียงแจกจ่ายอาหารและน้ำดื่มการดูแลประชาชน ณ ศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย

3. สถานการณ์น้ำท่วม

ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกําลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในระหว่างวันที่4 – 18 ก.ย. 65

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ตาก ลพบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐม กรุงเทพฯ หนองบัวลำภู ชัยภูมิ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร อุบลราชานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา ระยอง และ จันทบุรี