1. ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
1.1 ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 38/2565 ลงวันที่ 12 กันยายน 2565 กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา จากฝนคาดการณ์ของ
กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 1,900 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,800 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่15 กันยายน 2565
โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.40 – 0.60 เมตร ในช่วงวันที่ 16 – 17 กันยายน 2565 บริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
1.2 ประกาศศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 1/2565 ลงวันที่ 10 กันยายน 2565 แจ้งเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล เนื่องจากสถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการคาดการณ์ในช่วงวันที่ 9 – 12 กันยายน 2565 จะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชลประทานพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขาซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,500 – 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในช่วงวันที่ 13 – 18 กันยายน 2565 ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำที่ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว
2. ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับฤดูฝน ปี 2565
วันที่13 ก.ย.65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา โดยได้หารือร่วมกับ นายชยันต์ ศิริมาศ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อรับฟังการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฤดูฝนของ จังหวัดนครสวรรค์ และความก้าวหน้าการดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565
ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องณ ศาลากลางจังหวัดนครสวรรค์ ก่อนลงพื้นที่ต่อไปยังประตูดำ บึงบอระเพ็ด เพื่อติดตามการบริหารจัดการน้ำบึงบอระเพ็ด และเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยาและการบริหารจัดการน้ำ ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท ก่อนคณะจะเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบความพร้อมคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ หมู่ 3 ตำบลจรเข้ร้อง อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี 2564
3. สถานการณ์น้ำท่วม
ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคกลางตอนบนประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง ในวันที่ 4 –13 ก.ย. 65
ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่เกษตรกรรม รวม 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา ตาก เลย ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร หนองบัวลำภู กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ลพบุรี สระบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี