วันจันทร์ที่ 12 กันยายน 2565 เวลา 9.30 น. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ได้จัดพิธีมอบรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงาน และมอบรางวัลในครั้งนี้ ซึ่งกรมพัฒนาที่ดิน โดยผู้บริหาร คณะทีมงาน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับรางวัลและรับชมผ่านการถ่ายทอดสดออนไลน์ดังกล่าว
นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า “รางวัลเลิศรัฐ” นั้นถือเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มอบให้หน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูหน่วยงานที่ได้มุ่งมั่นปฏิบัติราชการจนประสบความสำเร็จ มีความเป็นเลิศแห่งหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในปีนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวนทั้งสิ้น 7 รางวัล ประกอบด้วย
1. สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ได้แก่ รางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ 4.0 (PMQA 4.0) “ผ่านเกณฑ์ระดับก้าวหน้า (Advance)”
2. สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดีเด่น” จำนวน 2 รางวัล จาก 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม จากผลงาน “กุสุมาลย์โมเดล: การพัฒนาสระน้ำในไร่นาแบบบูรณาการ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่นยืน” และ ประเภทรางวัลผู้นำหุ้นส่วนความร่วมมือ (Engaged Citizen) นายวิทยา กิติศรีวรพันธ์ จากผลงาน “กุสุมาลย์โมเดล: การพัฒนาสระน้ำในไร่นาแบบบูรณาการ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน” สพด.สกลนคร
3. สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” จำนวน 4 รางวัล จากประเภทรางวัลสัมฤทธิ์ผลประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ จากผลงาน “รัฐราษฎร์ร่วมบูรณา หันคาทำนาลดต้นทุน เพิ่มพูนผลผลิตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” สพด.ชัยนาท, “เกษตรอินทรีย์ PGS ไผ่ตอง แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาหารปลอดภัย เมืองนครปฐม” สพด.นครปฐม , “บ้านถิ่น ปรุงดิน สร้างน้ำ ปลูกแก้วมังกร สร้างรายได้อย่างยั่งยืน” สพด.แพร่ และ “อนุรักษ์ดินดี ระบบน้ำเด่น พัฒนาที่ดินแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน สู่ชุมชนบ้านโป่งคำ จังหวัดน่าน” สพด.น่าน
ความสำเร็จรางวัลเลิศรัฐที่กรมพัฒนาที่ดินได้รับในครั้งนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจ อีกทั้งยังสร้างแรงจูงใจให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินในการยกระดับองค์การเข้าสู่ระบบราชการ 4.0 และเปิดระบบราชการให้ประชาชนและภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการ และทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมโดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการ ตั้งแต่การให้ข้อมูลข่าวสาร การรับฟังความคิดเห็น การเข้ามาเกี่ยวข้อง ไปจนถึงการสร้างความร่วมมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการภาครัฐในการตอบสนองความต้องการของประชาชนและการพัฒนาประเทศให้เกิดความยั่งยืน”