วว. โชว์ Success Case ด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยว

วว. โชว์ Success Case ด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี  นวัตกรรม ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยว/มาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาค เชื่อมโยง บูรณาการ มรภ.

 ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา   วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม (อว.)    เป็นประธานเปิดงาน “การศึกษาดูงาน Success Case ด้านการวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ภายใต้โครงการยกระดับมาตรฐานสถานท่องเที่ยวและมาตรฐานผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทยในภูมิภาคที่เชื่อมโยงและบูรณาการ มรภ.” โดยได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง และ วว. ร่วมกันผลักดันและยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่

โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ วว. เชิญบุคลากรจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และผู้สนใจ เข้าร่วมงาน กิจกรรมในงานมุ่งเน้นการรายงานผลการดำเนินงานโครงการฯ ภาพรวมความสำเร็จการดำเนินงาน มรภ. นำเสนอโดย  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขจรศักดิ์  วงศ์วิราช จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง รวมทั้งหารือแนวทางการดำเนินงานระหว่าง วว. และ มรภ. นอกจากนี้ยังมีการเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ฯ ของ วว. เพื่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการได้รับมาตรฐาน เพื่อนำไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจต่อไป

ดังนี้  โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP)  กระบวนการผลิตผักทอดกรอบ ณ โรงงานนำทาง  และศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางแบบครบวงจร  (ICOS)  ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเครื่องสำอางตามมาตรฐาน ASEAN Cosmetic GMP และห้องปฏิบัติการทดสอบความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรตามมาตรฐาน  OECD  GLP  โอกาสนี้  ดร.อาภากร  สุปัญญา  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม วว. พร้อมผู้บริหาร บุคลากร ร่วมให้การต้อนรับ เมื่อวันที่  8  กันยายน  2565 ณ วว. เทคโนธานี  คลองห้า จังหวัดปทุมธานี

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. เล็งเห็นความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชน ที่มีสินค้าหรือผลิตภัณฑ์อยู่แล้วให้มีศักยภาพ มาตรฐาน ยกระดับผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยว ทั้งด้านการวิเคราะห์ ทดสอบ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การรับรองระบบคุณภาพกระบวนการผลิต มาตรฐานเกษตรปลอดภัย ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับชุมชน ปัญหาหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชนที่พบคือ เรื่องของมาตรฐานหรือการรับรอง หากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ไม่มีการรับรองคุณภาพก็จะจำหน่ายสินค้าได้ในวงจำกัด ดังนั้นการยกระดับสินค้าชุมชน OTOP จะสามารถช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าอยู่แล้ว ให้มีศักยภาพที่สามารถจำหน่ายในตลาดได้อย่างมีมาตรฐาน

“…มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำระบบมาตรฐานคุณภาพไปช่วยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ควบคู่กับการท่องเที่ยวทั้งด้านการวิเคราะห์ทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน มผช. หรือ อย. และยกระดับมาตรฐานการผลิตด้วยการตรวจประเมินสถานที่ผลิตและการรับรองระบบมาตรฐานการผลิต การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอัตลักษณ์ได้มาตรฐาน ด้วยการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว ตามมาตรฐานกรมการท่องเที่ยวและมาตรฐานฟาร์ม ตามมาตรฐาน GAP/เกษตรอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับชุมชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน

และยังสอดรับกับความร่วมมือกันระหว่าง วว. มรภ.และหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ ในการนำศักยภาพองค์ความรู้และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของแต่ละหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านผลิตภัณฑ์และมาตรฐานการท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน…”ศ.(วิจัย)ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. กล่าว

วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ  ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร  ผู้ประกอบการ  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่  โทร.  0   2577 9000  โทรสาร    0  2577   9009    เว็บไซต์    www.tistr.or.th     E-mail  : tistr@tistr.or.th    line@TISTR  IG : tistr_ig