“บิ๊กป้อม”ส่งสารฯชวนสร้างไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต “ตรีนุช”เชิดชูเกียรติ “พระยาศรีสุนทรโวหาร”เป็นผู้ส่งเสริมการรู้หนังสือ

วันที่  8 ก.ย. 2565 ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงานเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2565 หัวข้อ “การพลิกโฉมพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ กศน.ตำบล ให้แก่ผู้ได้รับการคัดเลือก จำนวน 169 รางวัล โดยมีนายชิเงรุ อาโอยากิ ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เข้าร่วม

โดยนางสาวตรีนุช ได้อ่านสารของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ วันที่ 8 กันยายน 2565 โดยมีใจความว่า การรู้หนังสือเป็นพื้นฐานสำคัญในการศึกษาและแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาชีวิตและยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองให้ดีขึ้น รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ส่งผลต่อการดำเนินวิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติ ดังนั้น การเปิดพื้นที่และการส่งเสริมการเรียนรู้ การรู้หนังสือ การรับรู้ข่าวสาร และการสื่อสารจึงเป็นวาระสำคัญของรัฐบาลทั่วโลก โดยองค์การยูเนสโกมีเป้าหมายเพื่อพลิกโฉมทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อการรู้หนังสือ

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ โดยมีเป้าหมายให้คนทุกช่วงวัยเป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 และมุ่งเน้นให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนทุกช่วงวัย รวมทั้งผู้ที่ไม่รู้หนังสือ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มเปราะบางและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อให้เป็นพลเมืองของชาติที่เข้มแข็งและเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะส่งผลทำให้รูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนแปลงไป แต่ได้มีการนำนวัตกรรมด้านการจัดการเรียนการสอนมาใช้ในระบบการศึกษามากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดการจัดการเรียนรู้แบบผสมผสาน ดังนั้น จึงเป็นการสร้างโอกาสในการขยายพื้นที่การเรียนรู้ให้เปิดกว้างและครอบคลุมทุกพื้นที่ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อขจัดความไม่รู้หนังสือและสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป

 นางสาวตรีนุช กล่าวเปิดงานว่า รัฐบาล ได้มุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 โดยหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้ขับเคลื่อน เพื่อการบรรลุเป้าหมาย คือ การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย ซึ่งมีจุดเน้นสำคัญในการปฏิบัติ คือ การทำให้คนไทยทุกคนรู้หนังสือที่สอดคล้องกับยุคสมัยทั้งของสังคมไทยและสังคมโลก และ สามารถเข้าถึงโอกาสการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตอย่างทั่วถึง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDG) ที่องค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ ซึ่งการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้ส่งผลให้ประเทศไทยมีอัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปอยู่ในเกณฑ์สูง คือกว่าร้อยละ 92 เป็นผู้ที่สามารถอ่านออก เขียนได้ความหมายของการรู้หนังสือ คือ เข้าใจภาษาในระดับที่เหมาะกับการติดต่อสื่อสาร ทำให้สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ และความรับผิดชอบได้อย่างสมบูรณ์ตามระดับของสังคม

รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า การรู้หนังสือไม่เพียงเป็นการเพิ่มเติมองค์ความรู้ ทั้งในมิติทางกว้างที่มีความรู้หลากหลายให้ได้เลือกค้นหาในสิ่งที่สนใจ และมิติทางลึกที่สร้างความเป็นผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้รู้ ยังเป็นส่วนเสริมในการสร้างสมรรถนะทางด้านทักษะฝีมือ และทักษะการดำเนินชีวิต ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ มีความสามารถในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหาต่างๆ นำไปสู่การมีความสุข อย่างไรก็ตามในช่วง 2 ปี ของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของโลกเป็นไปอย่างรวดเร็ว การศึกษานั้นต้องมีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น กศน.เป็นหน่วยงานที่ช่วยเข้ามาเติมเต็ม สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ

ดังนั้นวันนี้การรู้หนังสือทั้งองค์การ UNESCO และทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ และสิ่งที่สำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือเรื่องของ digital literacy การนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้และสื่อสารเพื่อให้คนสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ได้มาก ตลอดจนในเรื่องของ media literacy ต้องสร้างการรับรู้ เพื่อให้เกิดการตื่นรู้ ทำอย่างไรเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแล้ว เด็กและเยาวชนจะสามารถแยกแยะสื่อได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้แม้ในสถานการณ์ที่เป็นข้อจำกัด แต่ในวันนี้ได้เห็นถึงการตื่นตัวและพัฒนาการของคุณครูในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอน มากยิ่งขึ้นเพื่อที่จะให้เยาวชนได้เข้าถึงการเรียนรู้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ในด้านภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย หรือ Learning Loss เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ศธ.ได้พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา โดยใช้เครื่องมือที่มีความเหมาะสมต่อการเรียนการสอนภายในห้องเรียน และเครื่องมือทางด้านดิจิทัล จนเกิดเป็นการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทั้งแบบเผชิญหน้า หรือแบบชั้นเรียนแบบเดิม และแบบออนไลน์เข้าด้วยกัน รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาแหล่งการเรียนรู้อื่น ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนหรือในพื้นที่ของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคน (Learning for All) ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมอย่างดียิ่งของภาคีเครือข่ายที่รับผิดชอบโดยตรง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (All for Learning)

“ ในโอกาสเดียวกันนี้ ดิฉันในฐานะประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ขอยกย่อง และเชิดชูเกียรติ “พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกมีมติรับรองการร่วมเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของโลก ในวาระครอบรอบ 200 ปีชาตกาล ในปี 2565 ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม พระยาศรีสุนทรโวหาร เป็นผู้ส่งเสริมการรู้หนังสือ โดยเป็นผู้นิพนธ์หนังสือแบบเรียนภาษาไทย ชุดแบบเรียนหลวง 6 เล่ม ซี่งเป็นแบบเรียนหลวงชุดแรกที่ใช้เป็นแบบหัดอ่านเบื้องต้นของนักเรียน และยังนิพนธ์หนังสือเสริมอื่นๆ อีกมากมาย

รวมถึงประพันธ์คำนมัสการคุณานุคุณ และบทสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ ผลงานของท่านมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อการพัฒนาการศึกษา และการรู้หนังสือของไทย สอดคล้องกับแนวคิดขององค์การยูเนสโกในด้านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาให้แก่ทุกคน และการส่งเสริมการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย การรู้หนังสือเป็นเครื่องมือในการเปิดโลกกว้างให้กับทุกๆ คน ซึ่งการมีความรู้ความเข้าใจผ่านการรู้หนังสือ จะเป็นเสริมสร้างความแข็งแกร่งทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังสมอง ต่อการดำเนินชีวิตในโลกศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมั่นคง และมีคุณค่า มีความสุข”นางสาวตรีนุช กล่าว.